วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

เมื่อเมืองพบภัยและภัยพิบัติ
อัญชลิตา สุวรรณะชฎ


                สถานการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะ กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทย ในบางพื้นที่ประสบภัยพิบัติรุนแรงกว่าในอดีตที่ผ่านมา ในฐานะประชาชนคนเล็กๆ คนหนึ่งของกรุงเทพมหานคร เราจะทำความเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบันอย่างไร และทำไม "เมือง" ของเรา จึงเผชิญกับภัยพิบัติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เมือง
                เมือง มีบทบาทหน้าที่อย่างไร
เมือง (urban) เป็นพื้นที่อยู่อาศัยสำหรับประชากรเมืองทุกคน ตามนโยบายที่อยู่อาศัยโลกที่กำหนดให้มีการจัดหาที่อยู่อาศัยที่เพียงพอสำหรับทุกคน (Adequate Housing for All) และสอดคล้องกับความสามารถในการจ่ายเพื่อที่อยู่อาศัย (Affordable Housing) รวมถึงการสนับสนุนให้กลไกตลาดที่อยู่อาศัย ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Enabling Housing Market to Work) การมีที่อยู่อาศัยที่ดีและเพียงพอไม่เพียงแต่ทำให้ เมือง มีสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่ดี แต่ยังก่อให้เกิดการพัฒนาทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมที่มีคุณภาพ
เมือง เป็นผลมาจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ทำให้ เมือง มีการเจริญเติบโตและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งทางด้านกายภาพ เศรษฐกิจ และการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร ขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศยากจนและร่ำรวยหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม เนื่องมาจากขาดการวางแผนเมืองที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของพื้นที่ ทั้งทางกายภาพ ประวัติศาสตร์ และสังคม
                หลังจากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (The United Nations Conference on Environment and Development : UNCED) เมื่อปี ค.ศ. 1992 ณ กรุงริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล และการรับรอง แผนปฏิบัติการ 21 (Agenda 21) ประเทศไทยได้นำแนวคิดของการพัฒนาอย่างยั่งยืน[1]มาใช้เป็นแนวทางหลักในการพัฒนาประเทศ แผนปฏิบัติการ 21 ได้กำหนดแนวทางในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้ดำเนินไปด้วยกันอย่างสมดุล ซี่งประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้ให้การรับรองเพื่อใช้เป็นแผนปฏิบัติร่วมกัน เพื่อพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในศตวรรษที่ 21 โดยนำไปปรับใช้ตามลำดับความสำคัญของแต่ละประเทศ (ฉวีวรรณ เด่นไพบูลย์, 2554: 61)
                การพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นการพัฒนาที่มุ่งสร้างความสมดุลใน 3 มิติ คือ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ดังนั้น จึงต้องมองแบบองค์รวม การพัฒนาอย่างยั่งยืนต้องคำนึงถึงขีดจำกัดของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การสนองความต้องการในปัจจุบันต้องไม่ส่งผลเสียต่อความต้องการอนาคต การจะทำสิ่งใดต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดกับสิ่งอื่นๆ ด้วย รวมทั้งเทคโนโลยีและองค์ความรู้ใหม่ควรเป็นไปในทางสร้างสรรค์และเอื้อประโยชน์อย่างสอดคล้องและเหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นนั้น  
เมื่อ เมืองคือ พื้นที่อยู่อาศัยสำหรับประชากรเมืองทุกคน ที่ต้องมีการพัฒนาอย่างสมดุล ทั้งมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้รับรองแผนปฏิบัติการ 21 ร่วมกัน เพื่อพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแห่งศตวรรษที่ 21 สำหรับประเทศไทยเราตระหนักถึงความสำคัญของ เมือง และการพัฒนาอย่างยั่งยืนหรือไม่ มากน้อยเพียงใด เป็นสิ่งที่รัฐบาลและประชากรเมืองต้องหันมาทบทวนและมองอย่างรอบด้าน ในปัจจุบันอุทกภัยที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงไร้ขีดจำกัดเชิงพื้นที่ทางกายภาพ ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งในปัจจุบัน ระยะสั้น และระยะยาว การตัดสินใจกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งของรัฐบาลต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดกับสิ่งอื่นๆ ด้วย ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีและองค์ความรู้ใหม่ๆ ต้องเป็นไปในทางที่สร้างสรรค์และเอื้อประโยชน์อย่างสอดคล้องเหมาะสมกับสภาพของเมืองด้วย
                Herbert Girardet[2] (1996) กล่าวว่า เมืองจะยั่งยืนอยู่ได้ก็ต่อเมื่อชาวเมืองตระหนักต่อผลกระทบที่ตัวเองจะได้รับในด้านต่างๆ เนื่องจากชาวเมืองในทุกวันนี้ไม่ใส่ใจต่อผลกระทบที่มีต่อทรัพยากร และทั้งไม่ใส่ใจด้วยว่าตัวเองจะสร้างผลกระทบต่อพื้นที่เกษตรกรรมในท้องถิ่นและในระดับโลกอย่างไร

ภัย และ ภัยพิบัติ
                ภัย และ ภัยพิบัติ แตกต่างกันอย่างไร แล้วเราจะรับมือได้อย่างไร
ภัย (hazard) หมายถึง อันตรายที่เกิดจากธรรมชาติหรือจากกระทำของมนุษย์ ซึ่งนำมาซึ่งความสูญเสียหรือความเสียหาย
ภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม วาตภัย ดินถล่ม ภัยแล้ง ไฟป่า และแผ่นดินไหว เป็นต้น
ภัยที่เกิดจากกระทำของมนุษย์ เช่น ภัยจากการใช้รถใช้ถนน อัคคีภัย ภัยจากสารเคมี ภัยสารพิษจากโรงงาน ภัยจากระเบิด และภัยจากการก่อการร้าย เป็นต้น
ภัยพิบัติ (disaster) คือ ภัยที่มีผลกระทบซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของมนุษย์ หรือเกิดความเสียหายทางระบบเศรษฐกิจ มีผลกระทบต่อสังคม และอื่นๆ อีกมากมาย มีลักษณะพิเศษ (ฉวีวรรณ เด่นไพบูลย์, 2554: 32-35) ดังนี้
1.     สาเหตุการเกิดที่หลากหลาย ทำให้ต้องการความรู้ ความสามารถ และความชำนาญการเฉพาะด้านหลายๆ ด้านในการเตรียมพร้อม ป้องกัน แก้ไข และทำให้ภาวะที่ไม่พึงประสงค์อันเกิดจากภัยกลับสู่สภาพปกติ
2.     ภัยอย่างหนึ่งอาจก่อให้เกิดภัยอีกอย่างหนึ่ง เช่น แผ่นดินไหวทำให้เกิดไฟไหม้ แผ่นดินไหวทำให้เกิดสึนามิ น้ำท่วมฉับพลันทำให้เกิดโคลนถล่มดินถล่ม ความกดอากาศที่ผันแปรอย่างรุนแรงทำให้เกิดคลื่นสูง เป็นต้น
3.     ระดับความอ่อนไหวในการเผชิญกับภัยที่แตกต่างกันของชุมชน หน่วยงาน และประเทศ ตามระดับความรู้ในเรื่องภัย ความพร้อมของเครื่องมือ อุปกรณ์ และโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนการเตรียมพร้อมชุมชนให้สามารถตอบสนองต่อสภาวะที่เปลี่ยนแปลงได้
4.     ภัยพิบัติบางอย่างไม่สามารถคาดการณ์ หรือเตือนล่วงหน้าได้อย่างสมบูรณ์ เช่น การเกิดแผ่นดินไหว หรือหากคาดการณ์ได้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดขึ้นเช่นนั้นเสมอไป
5.     เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่จำเป็นต้องเป็นลำดับก่อนหลังเสมอไป และผลกระทบที่เกิดสามารถขยายผลได้เป็นทวีคูณ เช่น ภาวะอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ส่งผลต่างๆ กันในแต่ละภูมิภาคของโลก และในระดับที่แตกต่างกัน ไม่จำเป็นต้องเกิดภาวะแล้งก่อนเสมอไป (Nonlinear)
6.     ภัยที่มีความสามารถพิเศษในการเกิดทั้งในพื้นที่เล็กๆ จนถึงเกิดทั่วโลก (Large Scale)
7.     ภัยพิบัติที่ส่งผลให้เกิดความโกลาหล และซับซ้อน ซึ่งกระทบต่อการจัดการและแก้ไข (Chaos)
ความแตกต่างของ ภัย และ ภัยพิบัติ ดังกล่าว เมื่อนำมาวิเคราะห์สถานการณ์น้ำท่วมกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่า การเผชิญกับภัยพิบัติต้องอาศัยความรู้ ความสามารถ และความชำนาญการเฉพาะด้านหลายๆ ด้าน ในการแก้ไขให้ภาวะที่ไม่พึงประสงค์อันเกิดจากภัยกลับสู่สภาพปกติ การรับมือกับสถานการณ์ในอนาคต คือ การเตรียมพร้อมและป้องกัน ทั้งนี้ ต้องพิจารณาถึงระดับความอ่อนไหวในการเผชิญกับภัยที่แตกต่างกันของชุมชน ตลอดจนความพร้อมของเครื่องมือ อุปกรณ์ และเทคโนโลยีต่างๆ อย่างไรก็ตาม การจัดการและแก้ไขย่อมต้องเผชิญกับความโกลาหลและซับซ้อนอย่างแน่นอน

การบริหารจัดการภัยพิบัติ
เมื่อเมืองพบภัยและภัยพิบัติ จะบริหารจัดการอย่างไร
การบริหารจัดการภัยพิบัติ (Disaster management) หมายถึง การจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินอันเกิดจากสิ่งที่เป็นภัย ทั้งทางธรรมชาติและมิใช่ธรรมชาติ เช่น ภัยทางเทคโนโลยีที่มากับความทันสมัย ภัยจากการกระทำของมนุษย์ในรูปแบบอื่นๆ โดยรัฐจะจัดระเบียบโครงสร้างขององค์กรที่มีหน้าที่โดยตรงให้ใช้ความเป็นมืออาชีพ ทั้งในระดับบุคคลและองค์กร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการเตรียมพร้อม การตอบสนอง และการฟื้นฟูสภาวการณ์ภัยพิบัติ เน้นการสร้างระบบที่ดี การบริหารจัดการที่ดี มีความร่วมมือจากทุกภาคส่วนหรือจากปัจเจกบุคคล ต้องมีการสื่อสารหรือการให้ข่าวสารที่จำเป็นสู่ภายนอกอย่างเหมาะสม (ฉวีวรรณ เด่นไพบูลย์, 2554: 35-37)
กระบวนการวิเคราะห์การตัดสินใจในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ มี 3 ขั้นตอนสำคัญ คือ
ขั้นตอนแรก วิเคราะห์หาประเด็นความเสี่ยง
ขั้นตอนที่สอง กำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายในหลากหลายทางเลือก
ขั้นตอนที่สาม ให้แนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เป็นไปได้ในหลากหลายทาง
นอกจากนี้ยังต้องมีการบริหารแบบองค์รวมมากขึ้น มีกระบวนการหลักๆ 4 ขั้นตอน คือ
1.     การบรรเทาภัยพิบัติ (mitigation) เป็นกระบวนการในการลดและบรรเทาภัยที่สืบเนื่องจากการเกิดภัยพิบัติ โดยจะต้องค้นหาภาวะคุกคาม (treat) จากภัยพิบัติ เพื่อหาแนวทางในการบรรเทาต่อไป
2.     การเตรียมรับมือ (preparedness) ถือได้ว่าเป็นกระบวนการที่เตรียมความพร้อมเพื่อรับมือก่อนเกิดภัยพิบัติ ทั้งทางด้านคน เครื่องมือ และสิ่งต่างๆ เพื่อสร้างโอกาสการรอดชีวิตให้เพิ่มสูงขึ้น และลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจากการเกิดภัยพิบัติ
3.     การตอบสนอง (response) เป็นกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการลดผลกระทบจากภัยพิบัติที่กำลังจะเกิดขึ้นเพื่อที่จะป้องกันบรรเทาความเสียหาย
4.     การฟื้นฟู (recovery) เป็นกระบวนการในการฟื้นฟูทางด้านกายภาพ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมหลังการเกิดภัยพิบัติ
กระบวนการบริหารจัดการภัยพิบัติ เป็นกระบวนการที่ต้องผสมผสานหลากหลายปัจจัยในการกำหนดแนวทางต่างๆ ซึ่งจะต้องมีความสัมพันธ์และเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน ทั้งในช่วงก่อนเกิดภัยพิบัติ ระหว่างการเกิดภัยพิบัติ และหลังการเกิดภัยพิบัติ
                จากหลักการดังกล่าวข้างต้น หากนำมาพิจารณาการบริหารจัดการภัยพิบัติและการตัดสินใจของรัฐบาล อาจเห็นได้ว่า การตัดสินใจในการบริหารจัดการภัยพิบัติจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครครั้งนี้ รัฐบาลได้จัดระเบียบโครงสร้างขององค์กรที่มีหน้าที่โดยตรงให้ใช้ความเป็นมืออาชีพ ทั้งในระดับบุคคลและองค์กรได้อย่างมีศักยภาพในการเตรียมพร้อม การตอบสนอง และการฟื้นฟูสภาวการณ์ภัยพิบัติมากน้อยเพียงใด มีระบบและการบริหารจัดการที่ดีหรือไม่ ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนหรือจากปัจเจกบุคคลเพียงใด และมีการสื่อสารหรือการให้ข่าวสารที่จำเป็นอย่างเหมาะสมหรือไม่
นอกจากนี้รัฐบาลต้องมีกระบวนการบริหารจัดการภัยพิบัติที่ผสมผสานปัจจัยในการกำหนดแนวทางต่างๆ ที่มีความสัมพันธ์และเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน ทั้งในช่วงก่อนเกิดภัยพิบัติ ระหว่างการเกิดภัยพิบัติ และหลังการเกิดภัยพิบัติ หรือไม่ อย่างไร เป็นสิ่งที่รัฐบาลควรตระหนัก ทบทวน และพิจารณาแก้ไข เพื่อนำพาประชาชนให้ผ่านพ้นวิกฤตอุทกภัยครั้งนี้ไปได้อย่างราบรื่นและรวดเร็ว พร้อมกับฟื้นฟู เมือง ทั้งทางด้านกายภาพ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมให้กลับมางดงามดังเดิม รวมทั้งหาแนวทางในการป้องกันภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคตโดยคำนึงถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน


                                                               

อ้างอิง

ฉวีวรรณ เด่นไพบูลย์. (2554). การวางแผนเมืองกับการพัฒนาที่อยู่อาศัยร่วมสมัย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ (แปล). (2539). ทำเมืองให้น่าอยู่ วิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ และความหวังสำหรับเมืองที่ยั่งยืน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์โกมลคีมทอง.
Jenks, M. and Rod Burgess. (2000). Compact Cites Sustainable Urban Forms for Developing Countries. London: Spon Press.


[1] การพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainable development) คือ การพัฒนาที่ไม่ต้องการจัดหาทรัพยากรให้เกินขีดความสามารถทางสิ่งแวดล้อม แต่ต้องเป็นการสนับสนุนความเท่าเทียมทางสังคมในขั้นตอนการตัดสินใจ โดยพิจารณาศักยภาพขององค์ประกอบที่มีอิทธิพลต่อความยั่งยืน ได้แก่ ขนาด รูปร่าง ความหนาแน่น และความกระชับของเมือง เช่น การใช้ประโยชน์ที่ดิน การผสมผสานการใช้ประโยชน์ ลักษณะอาคารที่อยู่อาศัย พื้นที่สีเขียว และพื้นที่โล่ง เป็นต้น (Jenks, M. and Rod Burgess, 2000)
[2] อ้างใน พิภพ อุดมอิทธิพงศ์, 2539

วันอังคารที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2554

การบริหารทุนมนุษย์ด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง[1]
อัญชลิตา สุวรรณะชฎ

เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศ ให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน...
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง จึงเปรียบเสมือนแสงเทียนที่ส่องสว่างนำทางชีวิตท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ เศรษฐกิจพอเพียง มิได้หมายถึงการใช้จ่ายอย่างประหยัด การไม่เป็นหนี้ การไม่ขวนขวายทำสิ่งใดๆ อย่างเต็มที่ หรือใช้เป็นเหตุผลเพื่อยอมรับสภาพที่เป็นอยู่ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้อธิบายว่า องค์ประกอบของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี การตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในระดับพอเพียง ประกอบด้วย 2 เงื่อนไข คือ ความรู้และคุณธรรม (พิพัฒน์ ยอดพฤติการ, 2550: 23-24)

แผนภาพที่ 1 หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

  
ที่มา: สมบัติ กุสุมาวลี. การบริหารทรัพยากรมนุษย์ในองค์การตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง. กรุงเทพฯ:  คณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.

เศรษฐกิจพอเพียง : ระบบเศรษฐกิจและวิถีแห่งการปฏิบัติ
การพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy) คือ การพัฒนาซึ่งตั้งอยู่บนหลักสายกลาง ที่คำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี โดยอาศัยความรู้และคุณธรรม ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอนของบุคคลในทุกระดับชั้น อย่างไรก็ตาม คุณลักษณะ 3 ประการ และเงื่อนไข 2 ประการดังกล่าว เป็นพื้นฐานที่สำคัญของเศรษฐกิจพอเพียงที่จะต้องศึกษาทำความเข้าใจ เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติตน (พิพัฒน์ ยอดพฤติการ, 2550: 24) ดังนี้
คุณลักษณะ 3 ประการของเศรษฐกิจพอเพียง
1.     ความพอประมาณ หมายถึง ความเหมาะสมของการดำเนินงาน ทั้งในแง่ของขนาดที่ไม่เล็กเกินไปหรือไม่ใหญ่จนเกินตัว แต่เป็นไปตามอัตภาพและสิ่งแวดล้อม รู้จักจัดทำเป็นขั้นตอน เพื่อให้การดำเนินงานมีความก้าวหน้า โดยที่ไม่ทำให้ตนเองและผู้อื่นเดือดร้อน (พิพัฒน์ ยอดพฤติการ, 2550: 34) ดังพระราชดำรัสที่ว่า
ให้พอเพียงนี้ ก็หมายความว่า มีกินมีอยู่ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหราก็ได้  แต่ว่าพอ แม้บางอย่างอาจจะดูฟุ่มเฟือย แต่ถ้าทำให้มีความสุข ถ้าทำได้ก็สมควรที่จะทำ สมควรที่จะปฏิบัติ
2.     ความมีเหตุผล หมายถึง การพิจารณาที่จะดำเนินงานใดๆ ด้วยความถี่ถ้วนรอบคอบ ไม่ย่อท้อ ไร้อคติ คำนึงถึงเหตุและปัจจัยแวดล้อมทั้งหมด เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างถูกต้องดีงาม เกิดประสิทธิผล เกิดประโยชน์ และความสุข โดยปราศจากการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น (พิพัฒน์     ยอดพฤติการ, 2550: 37, 42) ดังพระราชดำรัสที่ว่า
เศรษฐกิจพอเพียงนี้ ขอย้ำว่า เป็นทั้งเศรษฐกิจ หรือความประพฤติที่ทำอะไรเพื่อให้เกิดผล โดยมีเหตุและผล คือ เกิดผลมันมาจากเหตุ ถ้าทำเหตุที่ดี ถ้าคิดให้ดี ให้ผลที่ออกมา คือ สิ่งที่ติดตามเหตุ การกระทำ ก็จะเป็นการกระทำที่ดี และผลของการกระทำนั้น ก็จะเป็นการกระทำที่ดี ดีแปลว่ามีประสิทธิผล ดีแปลว่ามีประโยชน์ ดีแปลว่ามีความสุข
3.     การมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี หมายถึง การจัดองค์ประกอบของการดำเนินงาน ให้มีสภาพพร้อมรองรับต่อผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายในได้เป็นอย่างดี (พิพัฒน์ ยอดพฤติการ, 2550: 57-58) ดังพระราชดำรัสที่ว่า
ทุกวันนี้สถานการณ์ต่างๆ ในโลกและในบ้านเมืองของเราเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วย่อมทำให้มีความคิด ความเห็นและหลักการอย่างใหม่เกิดขึ้นมามาก การจัดวางหลักการวางระเบียบปฏิบัติในการบริหารและดำเนินการศึกษา จำต้องกระทำให้สอดคล้อง ให้ถูกเหมาะกับสภาพที่เปลี่ยนมาด้วย เพื่อที่จะได้ก้าวหน้าไปในทางเจริญ
เงื่อนไข 2 ประการของเศรษฐกิจพอเพียง
1.     เงื่อนไขความรู้ หมายถึง เครื่องอาศัยของการดำเนินงานเพื่อให้เป็นไปอย่างถูกต้อง ประกอบด้วย ความรอบรู้ คือ ความรู้ลึกในงานที่ทำและความรู้กว้างในสภาวะแวดล้อมและสถานการณ์ที่เกี่ยวพันกับงานที่ทำ ความระลึกรู้ (สติ) คือ การยั้งคิดพิจารณาและรู้ทันสภาวการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนที่จะกระทำการใดๆ และความรู้ชัด (ปัญญา) คือ การเห็นและเข้าใจสิ่งต่างๆ ได้อย่างกระจ่างชัดถูกต้องตามเหตุตามผลและตามจริง (พิพัฒน์ ยอดพฤติการ, 2550: 61, 63) ดังปรากฏในพระบรมราโชวาทฯ ตอนหนึ่งว่า
ความรู้นั้นเป็นหลักของการงาน ผู้ที่จะทำงานอย่างใด จำต้องมีความรู้ในเรื่องนั้นก่อนเป็นเบื้องต้น ส่วนความคิดเป็นเครื่องช่วยความรู้ คือ ช่วยให้ใช้ความรู้ได้ถูกต้อง เช่น จะใช้อย่างไร ที่ไหน เมื่อใด เมื่อมีความรู้สำหรับงาน มีความคิดสำหรับพิจารณาใช้ความรู้ให้ถูกต้องแล้ว ย่อมทำงานได้ผลสมบูรณ์ดี ยากที่จะผิดพลาด ความรู้กับความคิดจึงไม่ควรแยกจากกัน
2.     เงื่อนไขคุณธรรม หมายถึง เครื่องอาศัยของการดำเนินงานเพื่อให้เป็นไปอย่างดีงาม ประกอบด้วย ความซื่อสัตย์สุจริต คือ ความประพฤติชอบ มีการพูดและการกระทำซื่อตรงต่อหน้าที่การงาน ต่อตนเอง และต่อผู้อื่นที่เกี่ยวข้อง มีเจตนาบริสุทธิ์ ไม่คดโกง ไม่หลอกลวง และไม่เอารัดเอาเปรียบ ความอดทน มีความเพียร คือ ความบากบั่น ความกล้าแข็ง มีความหนักแน่น ไม่ท้อถอย ทำให้การดำเนินงานรุดหน้าเรื่อยไปจนประสบความสำเร็จ และความรอบคอบระมัดระวัง คือ การพิจารณาอย่างถี่ถ้วนในทุกแง่ทุกมุมก่อนที่จะดำเนินงาน เพื่อมิให้เกิดความเผลอเรอและพลั้งพลาด  (พิพัฒน์ ยอดพฤติการ, 2550: 71, 73) ดังพระบรมราโชวาทฯ ที่มีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า
การที่จะทำงานให้สัมฤทธิ์ผลที่พึงปรารถนา คือ ที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรมด้วยนั้น จะอาศัยความรู้แต่เพียงอย่างเดียวมิได้ จำเป็นต้องอาศัยความสุจริต ความบริสุทธิ์ใจ และความถูกต้องเป็นธรรมประกอบด้วย เพราะเหตุว่าความรู้นั้นเป็นเหมือนเครื่องยนต์ ที่ทำให้ยวดยานเคลื่อนไปได้ประการเดียว ส่วนคุณธรรมดังกล่าวแล้ว เป็นเหมือนหนึ่งพวงมาลัยหรือหางเสือ ซึ่งเป็นปัจจัยที่นำพายวดยานดำเนินไปถูกทางด้วยความสวัสดี คือ ปลอดภัยจนบรรลุถึงจุดหมายที่พึงประสงค์
ดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่า เศรษฐกิจพอเพียงเป็นทั้งระบบเศรษฐกิจและวิถีแห่งการปฏิบัติตนที่ถูกออกแบบโดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางกายภาพและบริบททางสังคม ทั้งคุณลักษณะที่สำคัญ 3 ประการ คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี ประกอบกับเงื่อนไขความรู้และคุณธรรม ทั้ง 2 ประการ แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาที่เริ่มต้นจากการพัฒนาตนเองและครอบครัว เมื่อมีความพอเพียงในการดำเนินชีวิตที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ในระดับหนึ่งแล้ว ก็จะรวมพลังกันในระดับกลุ่มหรือองค์กร เพื่อร่วมกันดำเนินงานในด้านต่างๆ ทั้งด้านการผลิต การตลาด สวัสดิการ การศึกษา สังคม และศาสนา โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน เมื่อมีความพอเพียงในระดับที่สองแล้ว ก็จะร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกสร้างเครือข่าย เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านต่างๆ ที่เป็นความช่วยเหลือเกื้อกูลร่วมมือประสานกันทุกฝ่าย (พิพัฒน์ ยอดพฤติการ, 2550: 83-85) ดังแผนภาพต่อไปนี้

แผนภาพที่ 2 ระดับของเศรษฐกิจพอเพียง


ที่มา: พิพัฒน์ ยอดพฤติการ. (2550). เศรษฐกิจพอเพียง หมายถึง อะไร. กรุงเทพฯ: สถาบันไทยพัฒน์. น. 85.

ทุน มนุษย์ และองค์กร : การบริหารคุณภาพด้วยเศรษฐกิจพอเพียง
ในปัจจุบันสังคมระบบทุนนิยมให้ความสำคัญกับ ทุน (Capital) ที่มีการสร้างสมและบริหารอย่างมีประสิทธิภาพที่เชื่อว่าจะส่งผลให้เกิดความมั่งคั่งไพบูลย์ องค์กรที่จะสามารถอยู่รอดและเติบโตได้ ผู้บริหารจะต้องให้ความสำคัญกับ ทุน ในองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทุนมนุษย์ (Human Capital) ซึ่งถือเป็นทรัพย์สินที่สำคัญที่สุดขององค์กร (วัลยาภรณ์ ทังสุภูติ, 2553: 35)
นักวิชาการด้านการจัดการได้ให้ความหมายคำว่า ทุนมนุษย์ (Human Capital) หมายถึง องค์ประกอบโดยรวมของความรู้ ทักษะ สมรรถนะ ประสบการณ์ และค่านิยม ซึ่งเป็นสิ่งที่คนสั่งสมไว้ในตัว เพื่อใช้ประโยชน์ในการทำงานหรือช่วยให้องค์การประสบความสำเร็จ
                แนวคิดเรื่องการบริหารทุนมนุษย์ (Human Capital Management) เป็นการปฏิวัติกรอบคิดด้านการจัดการคนในองค์กร กล่าวคือ แนวคิดนี้ไม่สนใจวุฒิการศึกษาหรือความอาวุโส แต่ใส่ใจเป็นอย่างยิ่งต่อสิ่งที่ผู้ปฏิบัติงานสั่งสมไว้เป็น ทุน ในตัว โดยมีเป้าหมายในการทำให้คนในองค์กรช่วยกันนำ ทุน ที่แต่ละคนมีนั้นออกมาใช้ในการทำงาน ผลักดันให้องค์กรบรรลุตามเป้าหมายความสำเร็จที่ตั้งไว้ และเป็นหน้าที่ที่องค์กรจะต้องมีการ ลงทุน ในมนุษย์ เพื่อเพิ่มมูลค่าทุนในตัวของเขา ขณะเดียวกันผู้ปฏิบัติงานแต่ละคน แต่ละระดับก็ต้องรับผิดชอบพัฒนาทุนในตัวเองให้มีความเหมาะสม ทันสมัย และเป็นที่ต้องการขององค์กรตลอดเวลา (employability) ซึ่งต้องอาศัยการเรียนรู้ (learning) ไม่ใช่แค่การอบรม (training) อย่างเดียว
จากแนวคิดการบริหารทุนมนุษย์ที่ให้ความสำคัญกับทุนในตัวคน (Man) ไม่ใช่ทุนที่เป็นตัวเงิน (Money) หรือวัตถุ (Materials) ดังนั้น การสะสมทุนในตัวคนจึงเป็นเรื่องของการสะสมความรู้ ทักษะ สมรรถนะ ประสบการณ์ และค่านิยม ซึ่งมีความเป็นนามธรรมที่เกี่ยวข้องกับจิตใจโดยตรง Howard Gardner นักวิชาการด้านการศึกษา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้เขียนหนังสือ Five Minds for the Future ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญขององค์ประกอบทักษะแห่งจิต 5 ประการ (สุรพงษ์ มาลี, 2550: 62-66) คือ
1) จิตแห่งวิทยาการ (Disciplined Mind) หมายถึง การเรียนรู้ตลอดชีวิต คิดเป็น ทำเป็น
2) จิตแห่งการสังเคราะห์ (Synthesizing Mind) หมายถึง การสั่งสม ต่อยอด และสร้างนวัตกรรมความรู้
3) จิตแห่งการสร้างสรรค์ (Creative Mind) ที่เชื่อว่า ความคิดสร้างสรรค์ สร้างด้วยการหมั่นฝึกฝน
4) จิตแห่งความเคารพ (Respectful Mind) หมายถึง การเปิดใจกว้างพร้อมรับฟังทุกความคิดเห็น
5) จิตแห่งคุณธรรม (Ethical Mind)
Gardner เน้นว่าจิตทั้ง 5 มีความสำคัญต่อมนุษย์ในโลกยุคใหม่และคนเราจะขาดจิตใดจิตหนึ่งใน 5 ประการนี้ไม่ได้ จิตทั้ง 5 มีผลต่อการพัฒนาตัวบุคคลทั้งในด้านการทำงานและการดำเนินชีวิต นำไปสู่การเป็นคนที่มีคุณภาพของสังคม ที่จะกลายเป็นพลังขับเคลื่อนองค์กร สังคม และประเทศชาติให้ก้าวหน้าไปสู่จุดหมายและยืนหยัดอยู่ได้ในโลกแห่งการแข่งขันยุคใหม่ แนวคิด จิตทั้ง 5 ของ Gardner นั้น ให้ความสำคัญกับเงื่อนไขความรู้และคุณธรรม ที่สอดคล้องกับแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นเป้าหมายการบริหารประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 ที่มุ่งเน้นการพัฒนาทุนมนุษย์ให้มีความรู้คู่คุณธรรม พร้อมที่จะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ขององค์กร รวมทั้งมีค่านิยมที่สอดคล้องและส่งเสริมการทำงานที่มุ่งสู่ความสำเร็จ
                ความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบของจิตโดยรวมกับแนวคิดการบริหารทุนมนุษย์และการบริหารองค์กรอย่างมีคุณภาพด้วยเศรษฐกิจพอเพียงนั้น ได้มีการศึกษาวิจัย บทบาทของแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงที่มีต่อภาวะจิตลักษณะของบุคลากรในองค์การที่บริหารจัดการโดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง พบว่า แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ทุกระดับ ทั้งระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กร ประเทศ และประชาคมโลก ภาวะจิตลักษณะของบุคลากรที่ปฏิบัติงานในองค์กรที่บริหารจัดการโดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง จะมีระดับสูงกว่าภาวะจิตลักษณะของบุคลากรที่ปฏิบัติงานในองค์กรที่บริหารจัดการโดยใช้แนวคิดอื่น ซึ่งเห็นได้จากด้านรายได้ กล่าวคือ บุคลากรในองค์กรที่บริหารจัดการโดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง จะมีรายได้เพียงพอกับรายจ่าย สามารถชำระหนี้ได้ภายในเวลาที่กำหนด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนเหล่านี้ในแต่ละเดือนจะมีเงินออมอย่างน้อย 10% แสดงให้เห็นว่าแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมีผลต่อความพอเพียงในระดับบุคคลในการดำเนินชีวิต และทำให้ระดับครอบครัวสามารถพึ่งตนเองได้ ชุมชนที่บริหารจัดการโดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง มีการรวมตัวเป็นกลุ่มหรือสหกรณ์อย่างเหนียวแน่น เพื่อดำเนินกิจการอันเป็นประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในด้านความเป็นอยู่ สวัสดิการ การศึกษา และศาสนา มีการระดมทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านต่างๆ มากกว่าชุมชนที่บริหารจัดการโดยใช้แนวคิดอื่น นอกจากนี้มีข้อค้นพบความสัมพันธ์ระหว่างภาวะจิตลักษณะของคนดี คนเก่ง กับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้มีข้อเสนอว่า การจะนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ให้เกิดผลดีต้องพัฒนาองค์ประกอบของจิตด้านต่างๆ การส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตของประชากรโลก ย่อมทำให้โลกมีประชากรคุณภาพ คือ เป็นทั้งคนดีและคนเก่ง ที่จะนำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนสำหรับมนุษยชาติ (ธีระศักดิ์ กำบรรณารักษ์ ทิพย์สุดา เมธีพลกุล ทัณฑิกา เทพสุริวงศ์ บุรชัย อัศวทวีบุญ, 2553: 3-13)
เมืองโบราณ เป็นตัวอย่างขององค์กรเอกชนแห่งหนึ่งที่น้อมนำแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการจัดการทุนมนุษย์ โดยทำความเข้าใจคนและองค์กรอย่างรอบด้าน และสามารถพลิกวิกฤติเป็นการอยู่รอดอย่างยั่งยืน
กันธร ทองธิว ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์เมืองโบราณ ซึ่งสานต่อความฝันของคุณตาในการสร้างแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมให้กับคนรุ่นหลัง ได้พลิกภาวะการขาดทุนปีละกว่า 50 ล้านบาท ตลอดระยะเวลากว่า 47 ปี มาเป็นการอยู่รอดอย่างยั่งยืน ด้วยการนำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการบริหารจัดการชุมชนเมืองโบราณ ซึ่งมีพนักงานกว่า 400 ชีวิต ให้อยู่ร่วมกันได้ด้วยการพึ่งพาตนเอง โดยเชื่อว่าความพอเพียงเป็นเรื่องของวัฒนธรรมของคนท้องถิ่นสยามที่มีมาช้านาน
จากการเยี่ยมชมเมืองโบราณและการสาธิตโดยวิทยากรประจำฐานต่างๆ ทั้ง 9 ฐานเรียนรู้ ในค่ายกสิกรรมธรรมชาติเมืองโบราณ พบว่า กันธรมิได้เพียงแต่คิดหรือบรรยายเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาถ่ายทอดบอกกล่าวด้วยวาจาเท่านั้น หากแต่ได้นำมาปฏิบัติอย่างจริงจัง เพื่อความพอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็นของชุมชนเมืองโบราณอย่างเป็นรูปธรรม ยกตัวอย่างเช่น การนำแนวคิดการผสมผสานการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ควบคู่ไปกับความต้องการด้านเศรษฐกิจและสังคมของประชาชน การบำรุงดินโดยการห่มดินหรือห่มฟางจากการเกี่ยวหญ้า เพื่อคืนความชุ่มชื้นให้แก่ดินก่อนลงมือเพาะปลูก ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง กล่าวคือ ปลูกไม้ที่เป็นอาหาร เป็นยา และไว้ใช้สอย สร้างบ้าน ได้แก่ พืชผัก พืชสมุนไพร พืชเศรษฐกิจ เช่น ต้นสัก เป็นต้น เพื่อให้ พอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น
โรงแรมชุมพรคาบาน่า รีสอร์ท และศูนย์กีฬาดำน้ำ เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่ได้น้อมนำพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจ เพื่อแก้ปัญหาอันเกิดจากหนี้สถาบันการเงิน เมื่อปี พ.ศ. 2542 หลังประสบภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ต้มยำกุ้ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 วริสร รักษ์พันธุ์ เจ้าของโรงแรมแห่งนี้ ใช้ 3 ค. สูตรมหัศจรรย์ฟันฝ่าวิกฤต ได้แก่ คล่องแคล่ว ความพอเพียง ครื้นเครง (วริสร รักษ์พันธุ์, 2553: 70-73) ดังนี้
คล่องแคล่ว หมายถึง เราจะต้องฝึกฝนงานที่จะต้องทำให้มีความรู้ความชำนาญ เพื่อให้เกิดการคล่องแคล่ว รู้จริง อันเนื่องมาจากการที่เราได้ลงมือปฏิบัติจริง
ความพอเพียง โดยตั้งอยู่บน 3 พ. คือ พออยู่ พอกิน พอใช้
ครื้นเครง คือ ไม่เครียด สามัคคีกัน ทำให้ไม่เหงา และทำให้เรามีกัลยาณมิตร
กิจกรรมทั้งหมดมาจากหลักการระเบิดจากข้างใน คือ มาจากความพร้อมของตัวเอง แล้วขยายผลสู่เครือข่าย บนพื้นฐานของความไม่เบียดเบียน
จากตัวอย่างความสำเร็จในการน้อมนำพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการบริหารของ เมืองโบราณ และโรงแรมชุมพรคาบาน่า รีสอร์ท และศูนย์กีฬาดำน้ำ นั้น จะเห็นได้ว่าทั้งสององค์กรต่างให้ความสำคัญกับหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้นำ ซึ่งมีบทบาทในการบริหารทุน มนุษย์ และองค์กรอย่างมีคุณภาพ ประกอบกับการวางระบบการทำงานที่มีความเหมาะสม รอบคอบ และสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมภายในและภายนอกองค์กร ทำให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพสูงขึ้น
การบริหารคุณภาพ (Total Quality Management: TQM) เป็นการบริหารตามข้อกำหนดขององค์กรมาตรฐานสากล โดยการสนับสนุนขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งประเทศไทยได้มีฉันทามติให้การบริหารภาครัฐและภาคเอกชนมีการบริหารคุณภาพ เมื่อ พ.ศ. 2530 และมีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มาตรา 75 และรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 78 (2) ดังนั้น การบริหารคุณภาพด้วยเศรษฐกิจพอเพียง จึงเป็นการยกระดับมาตรฐานการบริหารให้มีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น โดยอาศัยปัจจัยสำคัญ 2 ประการ คือ ภาวะผู้นำ (leadership) และระบบที่ดี (quality system) ซึ่งนอกจากจะสามารถรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจของโลกได้ ยังสามารถบูรณาการทุนมนุษย์ และองค์กรให้ดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน (ปรีดา กุลชล, 2552: 9-10)
 
บทส่งท้าย
การบริหารแบบเดิมๆ อาจสนใจกับความสามารถเพียงบางด้านของมนุษย์ เช่น ทำงานเก่ง คล่องแคล่ว เมื่อ คน เป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของสังคมและองค์กร การบริหารคน จึงเป็นสิ่งเดียวกับการบริหารองค์กร แต่ตัวตนของคนเรานั้นมีความซับซ้อนหลากมิติที่เชื่อมโยงอยู่กับครอบครัว สังคม และประเทศชาติ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ก้าวข้ามเขตแดนและชาติพันธุ์ ดังนั้น การพัฒนามนุษย์ เพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ต้องเข้าใจมิติสภาพแวดล้อมต่างๆ รวมถึงการพัฒนา ความเข้าใจคนและองค์กรอย่างรอบด้าน การบริหารคนแบบองค์รวม เป็นอีกแนวคิดหนึ่งของการบริหารที่ขยายขอบเขตความรู้ออกไปอย่างกว้างขวาง มี 4 องค์ประกอบ คือ บริหารองค์กร บริหารคน บริหารตน และบริหารสังคม
ถ้าเรามองประเทศไทยเป็น 1 องค์กร คนไทยเป็นคนที่สนใจความรู้สึกความสัมพันธ์ระหว่างกันมาก ความละเอียดอ่อนของจิตใจคนไทยในอดีต ที่สะท้อนออกมาเป็นวัฒนธรรมงดงามต่างๆ มาจากรากฐานการยึดมั่นในคุณธรรมความดี ซึ่งทำให้เมืองไทยเคยเป็นเมืองที่คนกล่าวขวัญถึง ว่าเป็นสยามเมืองยิ้ม ยิ้มที่สดใส มีชีวิตชีวา เพราะมาจากจิตใจที่เบิกบานอย่างแท้จริง เป็นประเทศที่มีความสุขสงบ ในขณะที่อเมริกาเป็นชาติที่เน้นผลลัพธ์ของงานเป็นสำคัญมากกว่า เมื่อนำหลักการมาใช้กับงาน คนทำงานจึงรู้สึกทรมานใจ อึดอัดกับการใช้ความรู้ดั้งเดิมที่ไม่ได้ปรับปรุงแก้ไข กลายเป็นว่าผลลัพธ์ในการทำงานแย่ลงกว่าเดิมในบางกรณี เมื่อมีการศึกษาใหม่ๆ หรือกระแสความคิดใหม่ๆ เข้ามา ส่วนใดที่เหมาะสมควรได้รับการพัฒนาปรับปรุงก่อนนำมาใช้กับคนไทย ส่วนใดที่เรามีอยู่แล้ว เราจะต่อยอดจากภูมิปัญญาเดิมที่งดงามได้อย่างไร เพื่อการสร้างต่อ พัฒนาเมืองไทยให้เป็นสุขอย่างยั่งยืน (มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ, 2551: 176-177)
กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกที่นำไปสู่กระบวนทรรศน์ใหม่ (new paradigm) เป็นสิ่งที่นักบริหารต้องตระหนักและปรับตัวอย่างรู้เท่าทัน เศรษฐกิจพอเพียงเป็นทฤษฎีใหม่หรือกระบวนทรรศน์ใหม่ของโลกที่จำเป็นต้องปฏิบัติเพื่อขจัดความยากจนหรือความไม่เพียงพอ นอกจากนี้ยังมีบทบัญญัติไว้เป็นแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจในรัฐธรรมนูญ จึงเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลที่ไม่อาจละเลยการปฏิบัติได้ (ปรีดี กุลชล, 2552: 30-32)
การพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy) คือ การพัฒนาซึ่งตั้งอยู่บนหลักสายกลาง ที่คำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี โดยอาศัยความรู้ และคุณธรรม ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอนของบุคคลในทุกระดับชั้น การนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัตินั้น ต้องคำนึงถึงความเกี่ยวข้องของแต่ละคุณลักษณะและเงื่อนไขต่างๆ แบบองค์รวม ทั้งคุณลักษณะด้านความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี ควบคู่ไปกับเงื่อนไขความรู้และคุณธรรม มิอาจใช้วิธีแยกส่วนสำหรับการปฏิบัติได้ (พิพัฒน์ ยอดพฤติการ, 2550: 24, 34, 99)
ถ้าประชากรโลกน้อมนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตก็จะทำให้โลกมีประชากรคุณภาพ คือ เป็นทั้งคนดีและคนเก่ง ที่จะนำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนสำหรับมนุษยชาติ ทั้งในปัจจุบันและอนาคตต่อไป

---------------------------------- 
บรรณานุกรม

ธีระศักดิ์ กำบรรณารักษ์ ทิพย์สุดา เมธีพลกุล ทัณฑิกา เทพสุริวงศ์ บุรชัย อัศวทวีบุญ. (2553). บทบาทของแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงที่มีต่อภาวะจิตลักษณะของบุคลากรในองค์การที่บริหารจัดการโดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง, วารสารวิจัยทรัพยากรมนุษย์ ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 มกราคม-มิถุนายน 2553. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. น. 3-13.
พิพัฒน์ ยอดพฤติการ. (2550). เศรษฐกิจพอเพียง หมายถึง อะไร. กรุงเทพฯ: สถาบันไทยพัฒน์.
ปรีดา กุลชล. (2552). TQM เศรษฐกิจพอเพียง. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ อนิเมทกรุ๊ป.
มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ. (2551). บริหารคนโดยองค์รวม The holistic people management.กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน.
เมืองโบราณ. เอกสารเผยแพร่ เมืองโบราณ. สมุทรปราการ: บริษัท เมืองโบราณ จำกัด.
สมบัติ กุสุมาวลี. การบริหารทรัพยากรมนุษย์ในองค์การตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง. กรุงเทพฯ: คณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.
สุรพงษ์ มาลี. (2550). “Howard Gardner กับจิตสาธารณะ”: อีกมุมมองหนึ่งของแนวคิดทุนมนุษย์, วารสารข้าราชการ ปีที่ 52 ฉบับที่ 6 เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2550. นนทบุรี: สำนักงาน กพ.
วริสร รักษ์พันธุ์. (2553). รอดเพราะทำ: ฅ ฅนต้นแบบ, ๓ ค. สูตรมหัศจรรย์    ฟันฝ่าวิกฤต, จุดเปลี่ยน มีนาคม 2010. น. 70-73.
วัลยาภรณ์ ทังสุภูติ. (2553). การพัฒนาทุนมนุษย์ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตามแนวทางการจัดการความรู้, เอกสารประกอบการสัมมนาทางวิชาการ ครั้งที่ 3/1 โครงการปรัชญาดุษฎีบัณฑิตทางสังคมศาสตร์ สาขาวิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
วิวัฒน์ ศัลยกำธร. (2553). ชายเพี้ยนแห่งมหาลัยคอกหมู. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์คอกหมู สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง.
Candidate of Economic Sciences Verhoglyadova N. I., Regional Higher Education “Strategy”, the Institute for Entrepreneurship. Definition and Content Interpretation of Human Capital. Annals. Computer Science Series. 4th Tome 1st Fasc. 2006. http://www.ise.in.th/khorkhon.php




[1] อัญชลิตา สุวรรณะชฎ. (2554). การบริหารทุนมนุษย์ด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง, วารสารดำรงราชานุภาพ ฉบับที่ 39 ปีที่ 11 น. 64-73. กรุงเทพฯ: สถาบันดำรงราชานุภาพ สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงมหาดไทย.

วันเสาร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2554

ความรัก สุขภาพ พืชผัก ผลไม้ และจักรวาล
อัญชลิตา สุวรรณะชฎ

                บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อเพื่อนคนหนึ่งของดิฉัน ซึ่งจักรวาลได้มอบให้ด้วยอ้อมกอดอันยิ่งใหญ่ของความรักที่หล่อเลี้ยงมนุษยชาติให้ดำรงอยู่บนโลกใบนี้ และจักรวาลได้แบ่งปันพลังงานให้เธอขับเคลื่อน ความรัก (Philos) ใน ความรู้ (Sophia) จนเกิด ปัญญา (Intellect) รู้แจ้งในปัญญาโลก และเติบโตทางปัญญาธรรม ขอบคุณจักรวาลที่สร้างมนุษย์คนหนึ่งให้เติบโตอย่างกล้าหาญและงดงาม

ความรัก


...รักอย่างไม่มีเงื่อนไข...รักหมดใจ...
หลับให้สบาย ใช้ชีวิตหลังม่านให้สนุก คิดถึงกันบ้างนะ
รศ.ดร.กรณ์กาญจน์ ภมรประวัติ เอเมอรี่
11 สิงหาคม 2554

“…ผมรักพ่อ ผมรักพ่อตลอดมา และจะรักพ่อตลอดไป...
ความจริงที่โหดร้าย ทราบเมื่อไหร่ก็กระชากใจอยู่ดี
ขอกราบพ่อ ขอกอดพ่อ ขอส่งจูบมาให้พ่อ
ผมจะเป็นอย่างพ่อ และรักพ่อตลอดไป
ไม่ต้องห่วงพวกเรานะครับ ผมจะดูแม่เอง
Your Chang

ปาป๊าไม่ต้องห่วงพวกเรานะคะ ปาป๊าอยู่ไหนหนูก็รักปาป๊าเหมือนเดิม
ปาป๊าอยู่ในหัวใจหนูตลอดไป
น้องแอนน์

ผมรักพ่อครับ พ่อเป็นพ่อที่ดีที่สุดที่เด็กทุกคนอยากได้ แม้ว่าพ่อไม่เพอร์เฟ็คผมก็รักพ่อ
...หัวใจผมแตกเป็นเสี่ยงๆ เมื่อหมอบอกว่า...พ่อจะไม่อยู่กับเรานานนัก
อยากให้พี่ช้างได้กอดพ่อ แต่พ่อจากไปเสียก่อน
แม่บอกว่า พ่อสบายแล้ว ผมก็เชื่อเช่นนั้นแต่ผมก็เสียใจมาก
วันนี้ผมไม่ร้องไห้แล้ว ถึงตัวพ่อไม่อยู่กับผม แต่พ่ออยู่ในหัวใจของผมตลอดไป
Even now that you are not here, you are still in my heart”
น้องกบ

                ทุกถ้อยคำทั้งหมดข้างบนนี้ มาจากหนังสือ กินตามสี ที่ระลึกงานฌาปนกิจ ดร.ซิลวิโอ ลาซโล่ เอเมอรี่ ณ ฌาปนาสถาน วัดธาตุทอง กรุงเทพมหานคร เมื่อวันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554 เวลา 17.00 น. หนังสือเล่มนี้ได้รวบรวมบทความของ รศ.ดร.กรณ์กาญจน์ ภมรประวัติ ที่เคยตีพิมพ์ในนิตยสารหมอชาวบ้าน จัดพิมพ์เป็นพ็อกเก็ตบุ๊ค ครั้งแรก เมื่อปี 2553
วันแรกที่ได้รับหนังสือเล่มนี้ พอเริ่มอ่าน...รอบแรกก็รู้สึกเหมือนอ่านหนังสือตามปกติของตัวเองในทุกๆ วัน แต่เมื่อคืนนี้หยิบมาอ่านใหม่ เพื่อค้นหาอะไรที่อยู่ในเนื้อหาอีกรอบ ตามวิสัยในการอ่านของตัวเอง...น้ำตาก็เริ่มไหลอย่างไม่รู้ตัว จนกระทั่งเมื่อเช้านี้ตั้งใจจะอ่านใหม่เป็นรอบที่สาม พร้อมกับเริ่มกดแป้นคีย์บอร์ด แทบไม่ต้องเปิดหาข้อความหรือถ้อยคำที่จะพิมพ์ ตัวหนังสือก็พรั่งพรูออกมาจากสมอง พร้อมกับน้ำตาที่รินไหล ต่อให้ใจแข็งขนาดไหน ก็อดหวั่นไหวไปตามถ้อยคำที่เรียงร้อยออกมาจากหัวใจไม่ได้
นี่กระมัง ความรัก ช่างมีอานุภาพยิ่งใหญ่นัก สามารถสลายใจคนได้จริงๆ

สุขภาพและพืชผักผลไม้
                แก้วไม่ชอบทานผัก ขี้เกียจแกะผลไม้ แต่เพราะไก่นั่นแหละที่ให้หนังสือ กินตามสี มา แก้วก็เลยตัดสินใจว่าจะพยายามทานผักให้ครบ 5 สี (ให้ได้) เมื่อวานอาหารเย็นของแก้วจึงเป็นผักสลัดจากโครงการหลวง 1 จานใหญ่ ที่ถูกแก้วคัดสรรอย่างละชิ้นสองชิ้นจนครบ 5 สี (จนได้) พร้อมกับน้ำสลัดสไตล์ญี่ปุ่นจากซุปเปอร์มาร์เก็ต ราดอย่างชุมฉ่ำ อืม...รสชาดไม่ธรรมดา

สีเขียว
                ไก่บอกว่า พืชผักสีเขียว เช่น ผักตำลึง ผักหวานบ้าน มะเขือเปราะ ถั่วพู ขจร ฝักกระเจี๊ยบมอญ แตงกวา อุดมไปด้วยคลอโรฟิลล์ และยังมี ลูทีน (lutein) อินโดล (indole) และไทโอไซยาเนต (thiocyanate) โดยรวมแล้วสารในพืชผักสีเขียวเหล่านี้ มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ ต้านออกซิเดชันของไขมันแอลดีแอล และยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็ง เพิ่มความแข็งแรงของหลอดเลือดฝอย แต่อย่าลืมเติม แคลเซียม แมกนีเซียม ซีลีเนียม จาก ผักกาดขาว บวบ หน่อไม้ฝรั่ง มะเขือ ถั่วฝักเขียว ขึ้นฉ่าย กุยฉ่าย ชะอม ใบชะพลู สะตอ เป็นต้น ด้วย เพื่อเพิ่มความสามารถในการทำงานให้ร่างกาย

สีขาว
                พืชผักและผลไม้ที่มีสีขาว มีสารประกอบกำมะถัน ฟลาโวนอยด์หลายชนิด เพกทิน และเส้นใย พืชผักสีขาว ได้แก่ กระเทียม หอมหัวใหญ่ แค ขิง ข่า ลูกเดือย เมล็ดงา สารบางชนิดในพืชผักสีขาวมีฤทธิ์ต้านจุลชีพ ช่วยลดคลอเลสเตอรอล ต้านการอักเสบ ลดอาการปวดข้อเข่า ต้านอนุมูลอิสระ ฆ่าเซลล์มะเร็ง มีสารต้านการหลั่งฮิสตามีน ซึ่งช่วยบรรเทาอาการโรคภูมิแพ้ได้ นอกจากนี้ควรรับประทานผลไม้สีขาวและสีน้ำตาลชนิดอื่นๆ ซึ่งผลไม้สีขาวในที่นี้ คือ ผลไม้ที่มีเนื้อข้างในสีขาว (มิใช่สีของเปลือกภายนอก) เช่น กล้วย ลิ้นจี่ ลำใย แอปเปิ้ล ฝรั่ง แก้วมังกร ช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้า ลดความอยากอาหาร และบรรเทาอาการนอนไม่หลับได้ด้วย

สีเหลือง
                พืชผักสีเหลืองและสีส้ม เช่น ทุเรียน ฟักทอง มะม่วง มะละกอ มะนาว สับปะรด ลูกพลับ มีสารต้านอนุมูลอิสระ วิตามินซี แคโรทีนอยด์ และสารฟลาโวนอยด์ ช่วยรักษาสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด สายตา ลดโอกาสเสี่ยงการเกิดมะเร็ง และดูแลสุขภาพระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

สีแดง
                อาหารสีแดงช่วยดูแลหัวใจและหลอดเลือด ลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็ง และรักษาสุขภาพระบบทางเดินปัสสาวะ สารที่พบในอาหารสีแดง/ชมพู ได้แก่ แคโรทีนอยด์ แอนโทไซยานิน บีทาเลน และสารประกอบฟีนอล มีในพืชผักสีแดง เช่น กระเจี๊ยบแดง มะเขือเทศราชินี ทับทิม เป็นต้น

สีม่วง
                สีน้ำเงิน และสีม่วงแดง บางชนิดเกิดจากสารกลุ่มแอนโทไซยานิน (anthocyanin) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพสูง มีฤทธิ์ต้านออกซิเดชันของไขมันแอลดีแอล และยังทำให้เซลล์บุผนังหลอดเลือดมีความอ่อนนิ่ม ช่วยชะลอภาวะเสื่อมของเซลล์ อาหารกลุ่มสีน้ำเงินและสีม่วง ได้แก่ เผือก ข้าวก่ำ ข้าวเหนียวดำ กะหล่ำปลีม่วง องุ่นแดง ลูกพรุน ลูกเกด ชมพู่มะเมี่ยว ลูกหว้า หอมแดง ดอกอัญชัน เป็นต้น

                อย่าลืมทานพืชผักและผลไม้ให้ครบ 5 สี ในแต่ละวัน เพื่อสุขภาพที่ดีกว่าเดิม

บทส่งท้าย
นอกจากเรื่องสุขภาพ พืชผัก และจักรวาลแล้ว อีกเรื่องที่ไก่ชอบพูดถึง คือ เรื่องการทำงานของสมอง ซึ่งสมองมี 2 ซีก คือ ซีกซ้ายและซีกขวา สมองซีกซ้ายทำหน้าที่เกี่ยวกับรูปธรรมทั้งหลาย เช่น เหตุผล การคิด การวิเคราะห์ ภาษา การเขียน การคำนวณ และการเคลื่อนไหวต่างๆ เป็นต้น ซึ่งเราจะรับรู้เรื่องเหล่านี้ได้จากการทำงานของสมองซีกซ้าย ส่วนสมองซีกขวาทำหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องนามธรรม เช่น จินตนาการ มโนธรรม คุณธรรม ศิลปะ ดนตรี อารมณ์สุนทรีย์ ญาณปัญญา เป็นต้น แต่สมองทั้งสองซีกจะต้องทำงานไปด้วยกันเสมอ แม้ว่าบางช่วงสมองซีกใดซีกหนึ่งจะทำงานมากกว่าอีกซีกหนึ่งก็ตาม

สมองซีกซ้ายและสมองซีกขวา
แก้วกับไก่[1] เป็นผลผลิต (ที่อาจมีคุณภาพแตกต่างกัน) ของสถาบันการศึกษาที่เป็น ปัญญาของแผ่นดิน (Wisdom of the Land) ถ้า ปัญญา มาจากสมอง...ไก่ก็คงเป็นเซลล์เด่นยีนดีที่มาจากสมองซีกซ้าย ส่วนแก้วก็คงเป็นในทางตรงกันข้าม...เป็นเซลล์ที่หลุดมาจากสมองซีกขวา ซึ่งเราสองคนต่างทำหน้าที่บนแผ่นดินนี้ตามกลไกที่ถูกผลิตมาจากคนละด้าน
แต่ถ้า ปัญญา เกิดจากจิต...จิตของไก่ก็คงพัฒนาแบบติดจรวดได้ปัญญาธรรมไปเรียบร้อยแล้ว นอกเหนือไปจากปัญญาโลก (Philosophy of Science) ที่ไก่ได้รับและมีผลงานปรากฏเป็นที่ประจักษ์ ในขณะที่ปัญญาของแก้วก็ยังคงเอ้อละเหยลอยเรือแจวเลาะฝั่งเจ้าพระยา (สำนักท่าพระจันทร์) แถมยังแวะพักชมธรรมชาติสองฝั่งแม่น้ำนครชัยศรี (สำนักศาลายา) ไปเรื่อยเจื้อยอีกต่างหาก ปัญญาจึงยังไม่พัฒนาไปถึงไหน ต้องศึกษาหาความรู้เรื่อยไปไม่สิ้นสุด
นอกจากนี้จักรวาลวิทยา (Cosmology) ของแก้วกับไก่ก็คงอยู่กันคนละทางช้างเผือก (Galaxy) สำหรับไก่...จักรวาลเป็นหนึ่งเดียว คือ ยูนิเวิร์ส (Universe) จากการระเบิดของบิกแบง (Big Bang) ตามทฤษฎีควอนตัม (Quantum) ส่วนจักรวาลของแก้วเป็นจักรวาฬทีปนีที่มีเขาพระสุเมรุเป็นแกนกลาง ประกอบด้วยภูมิทั้งสาม คือ สวรรคภูมิ โลกภูมิ และนรกภูมิ เห็นไหมล่ะว่า เซลล์สมองที่ได้มามันคนละส่วนกันจริงๆ แต่แก้วก็สามารถมองเห็นโลกสามมิติได้เช่นเดียวกับไก่ แต่ต่างกันตามทรรศนะของแต่ละคน เพราะแก้วใช้เลนส์คนละอันกับไก่นั่นเอง
ถ้านักปรัชญาคลาสสิกในโลกตะวันตกยังมีชีวิตอยู่ อาทิเช่น ฮิปโปเครตีส (Hippocrates) บิดาแห่งการแพทย์ เขาคงรับไก่เป็นศิษย์อย่างไม่มีเงื่อนไข ในขณะที่แก้วคงต้องวิ่งตามอาจารย์ปู่อย่างโสเครตีส (Socrates) ไปเดินเล่นแถวโพลีส (Polis) เพื่อหาความรู้ตามตลาด ท่าเรือ และเดินดูขบวนแห่อยู่ทุกวัน
ในโลกปัจจุบันที่เรียกกันว่า หลังสมัยใหม่ (Postmodern) คงเปรียบไก่ได้กับอาเดล (Adele) แล้วแก้วก็คงเป็นเลดี้กาก้า (Lady Gaga)[2] นั่นแหละ มันสุดขั้วกันจริงๆ แต่เราก็เป็นเพื่อนรักกันที่จะรักกันตลอดไป

รักนะไก่
แก้ว
 03/09/2554


[1]แก้ว (ผู้เขียน) หรือ อัญชลิตา สุวรรณะชฎ ส่วน ไก่ (เพื่อนของผู้เขียน) คือ รศ.ดร.กรณ์กาญจน์ ภมรประวัติ
[2] Unchalita Suvarnajata. (2011). Online available at http://mu-dpa1.blogspot.com/