วันเสาร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2554

ความรัก สุขภาพ พืชผัก ผลไม้ และจักรวาล
อัญชลิตา สุวรรณะชฎ

                บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อเพื่อนคนหนึ่งของดิฉัน ซึ่งจักรวาลได้มอบให้ด้วยอ้อมกอดอันยิ่งใหญ่ของความรักที่หล่อเลี้ยงมนุษยชาติให้ดำรงอยู่บนโลกใบนี้ และจักรวาลได้แบ่งปันพลังงานให้เธอขับเคลื่อน ความรัก (Philos) ใน ความรู้ (Sophia) จนเกิด ปัญญา (Intellect) รู้แจ้งในปัญญาโลก และเติบโตทางปัญญาธรรม ขอบคุณจักรวาลที่สร้างมนุษย์คนหนึ่งให้เติบโตอย่างกล้าหาญและงดงาม

ความรัก


...รักอย่างไม่มีเงื่อนไข...รักหมดใจ...
หลับให้สบาย ใช้ชีวิตหลังม่านให้สนุก คิดถึงกันบ้างนะ
รศ.ดร.กรณ์กาญจน์ ภมรประวัติ เอเมอรี่
11 สิงหาคม 2554

“…ผมรักพ่อ ผมรักพ่อตลอดมา และจะรักพ่อตลอดไป...
ความจริงที่โหดร้าย ทราบเมื่อไหร่ก็กระชากใจอยู่ดี
ขอกราบพ่อ ขอกอดพ่อ ขอส่งจูบมาให้พ่อ
ผมจะเป็นอย่างพ่อ และรักพ่อตลอดไป
ไม่ต้องห่วงพวกเรานะครับ ผมจะดูแม่เอง
Your Chang

ปาป๊าไม่ต้องห่วงพวกเรานะคะ ปาป๊าอยู่ไหนหนูก็รักปาป๊าเหมือนเดิม
ปาป๊าอยู่ในหัวใจหนูตลอดไป
น้องแอนน์

ผมรักพ่อครับ พ่อเป็นพ่อที่ดีที่สุดที่เด็กทุกคนอยากได้ แม้ว่าพ่อไม่เพอร์เฟ็คผมก็รักพ่อ
...หัวใจผมแตกเป็นเสี่ยงๆ เมื่อหมอบอกว่า...พ่อจะไม่อยู่กับเรานานนัก
อยากให้พี่ช้างได้กอดพ่อ แต่พ่อจากไปเสียก่อน
แม่บอกว่า พ่อสบายแล้ว ผมก็เชื่อเช่นนั้นแต่ผมก็เสียใจมาก
วันนี้ผมไม่ร้องไห้แล้ว ถึงตัวพ่อไม่อยู่กับผม แต่พ่ออยู่ในหัวใจของผมตลอดไป
Even now that you are not here, you are still in my heart”
น้องกบ

                ทุกถ้อยคำทั้งหมดข้างบนนี้ มาจากหนังสือ กินตามสี ที่ระลึกงานฌาปนกิจ ดร.ซิลวิโอ ลาซโล่ เอเมอรี่ ณ ฌาปนาสถาน วัดธาตุทอง กรุงเทพมหานคร เมื่อวันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554 เวลา 17.00 น. หนังสือเล่มนี้ได้รวบรวมบทความของ รศ.ดร.กรณ์กาญจน์ ภมรประวัติ ที่เคยตีพิมพ์ในนิตยสารหมอชาวบ้าน จัดพิมพ์เป็นพ็อกเก็ตบุ๊ค ครั้งแรก เมื่อปี 2553
วันแรกที่ได้รับหนังสือเล่มนี้ พอเริ่มอ่าน...รอบแรกก็รู้สึกเหมือนอ่านหนังสือตามปกติของตัวเองในทุกๆ วัน แต่เมื่อคืนนี้หยิบมาอ่านใหม่ เพื่อค้นหาอะไรที่อยู่ในเนื้อหาอีกรอบ ตามวิสัยในการอ่านของตัวเอง...น้ำตาก็เริ่มไหลอย่างไม่รู้ตัว จนกระทั่งเมื่อเช้านี้ตั้งใจจะอ่านใหม่เป็นรอบที่สาม พร้อมกับเริ่มกดแป้นคีย์บอร์ด แทบไม่ต้องเปิดหาข้อความหรือถ้อยคำที่จะพิมพ์ ตัวหนังสือก็พรั่งพรูออกมาจากสมอง พร้อมกับน้ำตาที่รินไหล ต่อให้ใจแข็งขนาดไหน ก็อดหวั่นไหวไปตามถ้อยคำที่เรียงร้อยออกมาจากหัวใจไม่ได้
นี่กระมัง ความรัก ช่างมีอานุภาพยิ่งใหญ่นัก สามารถสลายใจคนได้จริงๆ

สุขภาพและพืชผักผลไม้
                แก้วไม่ชอบทานผัก ขี้เกียจแกะผลไม้ แต่เพราะไก่นั่นแหละที่ให้หนังสือ กินตามสี มา แก้วก็เลยตัดสินใจว่าจะพยายามทานผักให้ครบ 5 สี (ให้ได้) เมื่อวานอาหารเย็นของแก้วจึงเป็นผักสลัดจากโครงการหลวง 1 จานใหญ่ ที่ถูกแก้วคัดสรรอย่างละชิ้นสองชิ้นจนครบ 5 สี (จนได้) พร้อมกับน้ำสลัดสไตล์ญี่ปุ่นจากซุปเปอร์มาร์เก็ต ราดอย่างชุมฉ่ำ อืม...รสชาดไม่ธรรมดา

สีเขียว
                ไก่บอกว่า พืชผักสีเขียว เช่น ผักตำลึง ผักหวานบ้าน มะเขือเปราะ ถั่วพู ขจร ฝักกระเจี๊ยบมอญ แตงกวา อุดมไปด้วยคลอโรฟิลล์ และยังมี ลูทีน (lutein) อินโดล (indole) และไทโอไซยาเนต (thiocyanate) โดยรวมแล้วสารในพืชผักสีเขียวเหล่านี้ มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ ต้านออกซิเดชันของไขมันแอลดีแอล และยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็ง เพิ่มความแข็งแรงของหลอดเลือดฝอย แต่อย่าลืมเติม แคลเซียม แมกนีเซียม ซีลีเนียม จาก ผักกาดขาว บวบ หน่อไม้ฝรั่ง มะเขือ ถั่วฝักเขียว ขึ้นฉ่าย กุยฉ่าย ชะอม ใบชะพลู สะตอ เป็นต้น ด้วย เพื่อเพิ่มความสามารถในการทำงานให้ร่างกาย

สีขาว
                พืชผักและผลไม้ที่มีสีขาว มีสารประกอบกำมะถัน ฟลาโวนอยด์หลายชนิด เพกทิน และเส้นใย พืชผักสีขาว ได้แก่ กระเทียม หอมหัวใหญ่ แค ขิง ข่า ลูกเดือย เมล็ดงา สารบางชนิดในพืชผักสีขาวมีฤทธิ์ต้านจุลชีพ ช่วยลดคลอเลสเตอรอล ต้านการอักเสบ ลดอาการปวดข้อเข่า ต้านอนุมูลอิสระ ฆ่าเซลล์มะเร็ง มีสารต้านการหลั่งฮิสตามีน ซึ่งช่วยบรรเทาอาการโรคภูมิแพ้ได้ นอกจากนี้ควรรับประทานผลไม้สีขาวและสีน้ำตาลชนิดอื่นๆ ซึ่งผลไม้สีขาวในที่นี้ คือ ผลไม้ที่มีเนื้อข้างในสีขาว (มิใช่สีของเปลือกภายนอก) เช่น กล้วย ลิ้นจี่ ลำใย แอปเปิ้ล ฝรั่ง แก้วมังกร ช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้า ลดความอยากอาหาร และบรรเทาอาการนอนไม่หลับได้ด้วย

สีเหลือง
                พืชผักสีเหลืองและสีส้ม เช่น ทุเรียน ฟักทอง มะม่วง มะละกอ มะนาว สับปะรด ลูกพลับ มีสารต้านอนุมูลอิสระ วิตามินซี แคโรทีนอยด์ และสารฟลาโวนอยด์ ช่วยรักษาสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด สายตา ลดโอกาสเสี่ยงการเกิดมะเร็ง และดูแลสุขภาพระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

สีแดง
                อาหารสีแดงช่วยดูแลหัวใจและหลอดเลือด ลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็ง และรักษาสุขภาพระบบทางเดินปัสสาวะ สารที่พบในอาหารสีแดง/ชมพู ได้แก่ แคโรทีนอยด์ แอนโทไซยานิน บีทาเลน และสารประกอบฟีนอล มีในพืชผักสีแดง เช่น กระเจี๊ยบแดง มะเขือเทศราชินี ทับทิม เป็นต้น

สีม่วง
                สีน้ำเงิน และสีม่วงแดง บางชนิดเกิดจากสารกลุ่มแอนโทไซยานิน (anthocyanin) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพสูง มีฤทธิ์ต้านออกซิเดชันของไขมันแอลดีแอล และยังทำให้เซลล์บุผนังหลอดเลือดมีความอ่อนนิ่ม ช่วยชะลอภาวะเสื่อมของเซลล์ อาหารกลุ่มสีน้ำเงินและสีม่วง ได้แก่ เผือก ข้าวก่ำ ข้าวเหนียวดำ กะหล่ำปลีม่วง องุ่นแดง ลูกพรุน ลูกเกด ชมพู่มะเมี่ยว ลูกหว้า หอมแดง ดอกอัญชัน เป็นต้น

                อย่าลืมทานพืชผักและผลไม้ให้ครบ 5 สี ในแต่ละวัน เพื่อสุขภาพที่ดีกว่าเดิม

บทส่งท้าย
นอกจากเรื่องสุขภาพ พืชผัก และจักรวาลแล้ว อีกเรื่องที่ไก่ชอบพูดถึง คือ เรื่องการทำงานของสมอง ซึ่งสมองมี 2 ซีก คือ ซีกซ้ายและซีกขวา สมองซีกซ้ายทำหน้าที่เกี่ยวกับรูปธรรมทั้งหลาย เช่น เหตุผล การคิด การวิเคราะห์ ภาษา การเขียน การคำนวณ และการเคลื่อนไหวต่างๆ เป็นต้น ซึ่งเราจะรับรู้เรื่องเหล่านี้ได้จากการทำงานของสมองซีกซ้าย ส่วนสมองซีกขวาทำหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องนามธรรม เช่น จินตนาการ มโนธรรม คุณธรรม ศิลปะ ดนตรี อารมณ์สุนทรีย์ ญาณปัญญา เป็นต้น แต่สมองทั้งสองซีกจะต้องทำงานไปด้วยกันเสมอ แม้ว่าบางช่วงสมองซีกใดซีกหนึ่งจะทำงานมากกว่าอีกซีกหนึ่งก็ตาม

สมองซีกซ้ายและสมองซีกขวา
แก้วกับไก่[1] เป็นผลผลิต (ที่อาจมีคุณภาพแตกต่างกัน) ของสถาบันการศึกษาที่เป็น ปัญญาของแผ่นดิน (Wisdom of the Land) ถ้า ปัญญา มาจากสมอง...ไก่ก็คงเป็นเซลล์เด่นยีนดีที่มาจากสมองซีกซ้าย ส่วนแก้วก็คงเป็นในทางตรงกันข้าม...เป็นเซลล์ที่หลุดมาจากสมองซีกขวา ซึ่งเราสองคนต่างทำหน้าที่บนแผ่นดินนี้ตามกลไกที่ถูกผลิตมาจากคนละด้าน
แต่ถ้า ปัญญา เกิดจากจิต...จิตของไก่ก็คงพัฒนาแบบติดจรวดได้ปัญญาธรรมไปเรียบร้อยแล้ว นอกเหนือไปจากปัญญาโลก (Philosophy of Science) ที่ไก่ได้รับและมีผลงานปรากฏเป็นที่ประจักษ์ ในขณะที่ปัญญาของแก้วก็ยังคงเอ้อละเหยลอยเรือแจวเลาะฝั่งเจ้าพระยา (สำนักท่าพระจันทร์) แถมยังแวะพักชมธรรมชาติสองฝั่งแม่น้ำนครชัยศรี (สำนักศาลายา) ไปเรื่อยเจื้อยอีกต่างหาก ปัญญาจึงยังไม่พัฒนาไปถึงไหน ต้องศึกษาหาความรู้เรื่อยไปไม่สิ้นสุด
นอกจากนี้จักรวาลวิทยา (Cosmology) ของแก้วกับไก่ก็คงอยู่กันคนละทางช้างเผือก (Galaxy) สำหรับไก่...จักรวาลเป็นหนึ่งเดียว คือ ยูนิเวิร์ส (Universe) จากการระเบิดของบิกแบง (Big Bang) ตามทฤษฎีควอนตัม (Quantum) ส่วนจักรวาลของแก้วเป็นจักรวาฬทีปนีที่มีเขาพระสุเมรุเป็นแกนกลาง ประกอบด้วยภูมิทั้งสาม คือ สวรรคภูมิ โลกภูมิ และนรกภูมิ เห็นไหมล่ะว่า เซลล์สมองที่ได้มามันคนละส่วนกันจริงๆ แต่แก้วก็สามารถมองเห็นโลกสามมิติได้เช่นเดียวกับไก่ แต่ต่างกันตามทรรศนะของแต่ละคน เพราะแก้วใช้เลนส์คนละอันกับไก่นั่นเอง
ถ้านักปรัชญาคลาสสิกในโลกตะวันตกยังมีชีวิตอยู่ อาทิเช่น ฮิปโปเครตีส (Hippocrates) บิดาแห่งการแพทย์ เขาคงรับไก่เป็นศิษย์อย่างไม่มีเงื่อนไข ในขณะที่แก้วคงต้องวิ่งตามอาจารย์ปู่อย่างโสเครตีส (Socrates) ไปเดินเล่นแถวโพลีส (Polis) เพื่อหาความรู้ตามตลาด ท่าเรือ และเดินดูขบวนแห่อยู่ทุกวัน
ในโลกปัจจุบันที่เรียกกันว่า หลังสมัยใหม่ (Postmodern) คงเปรียบไก่ได้กับอาเดล (Adele) แล้วแก้วก็คงเป็นเลดี้กาก้า (Lady Gaga)[2] นั่นแหละ มันสุดขั้วกันจริงๆ แต่เราก็เป็นเพื่อนรักกันที่จะรักกันตลอดไป

รักนะไก่
แก้ว
 03/09/2554


[1]แก้ว (ผู้เขียน) หรือ อัญชลิตา สุวรรณะชฎ ส่วน ไก่ (เพื่อนของผู้เขียน) คือ รศ.ดร.กรณ์กาญจน์ ภมรประวัติ
[2] Unchalita Suvarnajata. (2011). Online available at http://mu-dpa1.blogspot.com/