วันอังคารที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ว่าด้วยทฤษฎีเมือง (ภาค 3)

อัญชลิตา สุวรรณะชฎ[1]

ทฤษฎีความยุ่งเหยิงของเมือง (Urban Anomie Theory)

หลุยส์ ไวร์ท (Louis Wirth)[2] เขียนเกี่ยวกับความหนาแน่นของประชากรและชนชั้นทางสังคมในมุมมองผลกระทบของเมืองต่อพลเมือง โดยเฉพาะชาวเมืองที่อยู่กันหนาแน่นและใกล้ชิดกันภายใต้ผู้คนและสิ่งแวดล้อมรอบตัวมากมาย ทั้งสถานที่ต่างๆ เสียง และกลิ่น ที่ต้องประสบในแต่ละวัน นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงบุคลิกและอารมณ์ที่เย็นชา


มุมมองของไวร์ทเริ่มมาจากแนวคิดของ จอร์จ ซิมเมล (Georg Simmel) เรื่อง The Metropolis and Mental Life (1905) ซิมเมลสันนิษฐานว่า การใช้ชีวิตที่อึดอัดเกินไปในเมือง (สถานที่ต่างๆ เสียง และกลิ่น) ทำให้เกิดความเครียดในแต่ละคน นำไปสู่การปรับตัวโดยแยกตัวเองออกจากคนอื่นๆ ในเมือง และกลายเป็นเหตุผลที่ต้องคำนึงถึงในการใช้ชีวิต งานเขียน Urbanism as Way of Life (1938) ไวร์ทนำแนวคิดความสับสน (anomie) ของ อีมิล เดอร์กไคม์ (Emile Durkheim) มาปรับใช้กับรูปแบบเมือง โดยชี้ให้เห็นความแตกต่างทางสังคมที่เพิ่มขึ้นจากความหนาแน่นของประชากรและการแย่งงาน ชีวิตในเมืองมีความยุ่งเหยิงทางสังคมเพิ่มขึ้นและความเป็นส่วนตัวลดลง ความอึดอัดใจกับการใช้ชีวิตในเขตชนบท การใช้ชีวิตอย่างเสรีในเมืองมีผลต่อกลุ่มและปัจเจกชน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผลลัพธ์ของวัฒนธรรมในสภาพแวดล้อมของเมืองสร้างความห่างเหินทางสังคมตามทฤษฎีของไวร์ท เขาสนับสนุนอิสรภาพในการเปิดเผยตนเองและความคิดสร้างสรรค์ เพราะการเปลี่ยนแปลงทางสังคมมาจากการพบปะของประชาชนในเมือง ไม่ใช่จากบรรทัดฐานทางสังคมที่ประชาชนเหล่านี้ต้องปฏิบัติตาม เราต้องแยกความยุ่งเหยิง ความเหงา และการฆ่าตัวตายออกจากอิสรภาพส่วนตัวที่จะแสดงตัวตน และความคิดสร้างสรรค์

ทฤษฎีวัฒนธรรมเมือง (Urban Culturalist Theory)

เฮอร์เบิร์ต แกนส์ (Herbert Gans) ไม่ได้ศึกษาเมืองโดยจำแนกประเภทตามวิวัฒนาการทางชนชั้นของผู้ที่อาศัยอยู่ในเมือง แต่แกนส์กล่าวถึงวิถีทางการดำเนินชีวิต (lifestyle) ที่ก่อตัวขึ้นโดยความเป็นเมือง แกนส์ได้รับอิทธิพลจาก โรเบิร์ต ปาร์ก และ เออร์เนส เบอร์เกส สำนักชิคาโก แกนส์เน้นศึกษาชีวิตในเมืองที่เกิดขึ้นในกลุ่มเล็กๆ ได้แก่ ครอบครัว เพื่อน และเพื่อนบ้าน ซึ่งกลุ่มเล็กๆ นี้อยู่ในถิ่นของชาวต่างประเทศภายในเมืองใหญ่ อย่างเช่น ลิตเติ้ลอิตาลีหรือไชน่าทาวน์ แกนส์ยืนยันว่าปัจจัยเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมเมือง ไม่ได้ส่งผลโดยตรงต่อกลุ่มหรือปัจเจกชน  เพียงแต่เป็นผลลบเล็กน้อยต่อการดำรงอยู่ของกลุ่มเล็กๆ ในเมือง (เช่น ลิตเติ้ลอิตาลี) ทฤษฎีพื้นที่ของแกนส์ต่อต้านการมองเมืองในด้านมืดแบบติดลบต่อกลุ่มเล็กๆ (Turley, Allan 2005: 10-11)
โฮเวิร์ด เบคเคอร์ (Howard Becker) ได้พัฒนาแนวคิดสำนักชิคาโกและแกนส์ ที่เสนอความซับซ้อนของชุมชนเมืองตามธรรมชาติในความหมายของ สังคมโลก (social world) กล่าวคือ ประสบการณ์โดยรวมและความสัมพันธ์ของถิ่นชาวต่างประเทศภายในเมืองใหญ่ เพื่อนบ้าน หรือ สภาพแวดล้อมการทำงาน ที่ทำให้ชาวเมืองใช้ชีวิตแตกต่างกันในสังคมโลก สู่การเคลื่อนไหวที่กลมกลืนกับเพื่อนบ้านทางสังคมโลก ถึงการทำงานในสังคมโลก และความเป็นครอบครัวในสังคมโลก อันนำไปสู่ผลผลิตทางวัฒนธรรม ยกตัวอย่างเช่น การพัฒนาเพลงคลาสสิกในทุกๆ เมืองในสหรัฐอเมริกา เมืองที่ปกครองตนเองโดยกลุ่มผู้ดีชั้นสูงเป็นผู้จัดการกองทุนภาษี (ท้องถิ่น รัฐ หรือสันนิบาต) เพื่อใช้จ่ายค่าอำนวยความสะดวก นักดนตรี และวงออเคสตราเพื่อแสดงดนตรีคลาสสิก ผู้ชม ทีมงาน และนักดนตรี เป็นผู้สร้างสรรค์สังคมโลกเพื่อผลิตวัฒนธรรมใหม่ รวมถึงสถาบันต่างๆ (วงซิมโฟนีหรือคณะโอเปรา) ผู้เชี่ยวชาญภาษาในการสื่อสาร (บทละครเรื่องมาดามบัตเตอร์ ฟลาย) เป็นบรรทัดฐานที่นำไปสู่สังคมโลก (การสวมใส่ชุดทักซิโดในการแสดง) สถาบันเหล่านี้ได้สร้างวัฒนธรรมเมือง (Turley, Allan 2005: 11)


หากย้อนกลับไปมอง เมือง ในทางรัฐศาสตร์ จอห์น มอลเลนคอมป์ (John Mollenkompf) ผู้เชี่ยวชาญวัฒนธรรมเมือง เชื่อว่านโยบายสนับสนุนการปกครองตนเองและโครงการจัดหาทุนต่างๆ เป็นพื้นฐานการเปลี่ยนแปลงของเมือง การออกแบบเมืองและการทำงานของเมืองเป็นการจัดการการปกครองตนเองทางวัฒนธรรมที่เหมาะสม รัฐบาลของสหพันธรัฐ กระทรวงที่อยู่อาศัยและการพัฒนาเมือง ได้เปลี่ยนเมืองโดยการออกแบบและโครงสร้างเมื่อ 50 ปีก่อน การเปลี่ยนเมืองใหม่ได้รับอนุมัติจากผู้นำเมืองในปี ค.ศ. 1950 นโยบายการบริหารกิจการภายในประเทศของประธานาธิบดีรูสเวลท์ ครอบคลุมถึงโครงการที่อยู่อาศัยจำนวนมาก จนอาจกล่าวได้ว่า เป็นการเริ่มต้นของกรุงวอชิงตันจากอิทธิพลความเป็นเมือง รัฐบาลเป็นผู้สร้างโครงการที่อยู่อาศัยเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1940 และออกแบบเพื่อผู้ไร้ที่อยู่อาศัยในปี ค.ศ. 1950 หลังยุคเศรษฐกิจตกต่ำ ในปี ค.ศ. 1960 ใช้เงินกองทุนเพื่อพัฒนาเมืองและที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยในอเมริกา ทำให้เมืองใหญ่ก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างขึ้น มีย่านธุรกิจหลักและตึกอาคารที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ ที่น่าเศร้า คือ ในปี ค.ศ. 1960-1970 นักพัฒนาที่ดินผู้ร่ำรวยเข้ามาฟื้นฟูทรัพย์สินในย่านธุรกิจหลัก ทำกำไรจากการซื้อขายเปลี่ยนมืออาคารที่เก็บค่าเช่าเพียงเพื่อเป็นค่าภาษีที่ดิน ในขณะที่การก่อสร้างต่ำกว่ามาตรฐานและความหละหลวมในการกำหนดเวลาสำหรับที่อยู่อาศัยเพื่อคนจนในระยะยาว ทำให้จำนวนยูนิตที่พักอาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยลดลง
เอลิซา แอนเดอร์สัน (Elijah Anderson)[3] ได้ใช้วิธีการศึกษาทางมานุษยวิทยา อธิบายชีวิตและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันในเรื่องโครงสร้างและปัญหาทางประวัติศาสตร์ ระหว่างพื้นที่แออัดที่คนกลุ่มน้อยในเมืองอาศัยอยู่กับชานเมือง แอนเดอร์สันอธิบายถึงชีวิตและโครงสร้างครอบครัว สิทธิ (decent) และ ถนน (street) สิทธิของครอบครัวชนชั้นกลางมีคุณค่าทางโครงสร้างวัฒนธรรมของสังคม และวัฒนธรรมครอบครัวข้างถนนกลับถูกปล่อยปละละเลย คุณค่าทางชนชั้นเป็นข้อเท็จจริงของชีวิตภายในเมืองที่ต้องยอมรับในระยะเวลาอันสั้น
การดูแลเอาใจใส่ กับ การแบ่งแยก วัฒนธรรมข้างถนน เป็นข้อถกเถียงของวัฒนธรรมอเมริกัน ที่ทำให้วัฒนธรรมอยู่ในภาวะชะงักงัน (dysfunction culture) วัฒนธรรมข้างถนนเป็นปฏิกิริยาต่อความยากจนมากกว่าเป็นการสร้างความยากจน ปฏิกิริยาต่อความยากจนภายในเมืองได้สร้างวัฒนธรรม ฮิบ-ฮอบ หรือวัฒนธรรมเพลงแร็บ ซึ่งเป็นผลผลิตของวัฒนธรรมข้างถนน รวมถึงบรรทัดฐานทางการใช้ภาษา (การใช้คำที่ไม่ถูกต้องตามไวยากรณ์ เช่น “dissin”) โครงสร้างมาตรฐาน (ความรุนแรงและการใช้ปืนเพื่อแก้ปัญหา) และแฟชั่น (ผ้าพันคอตามสีของแก็งค์ต่างๆ และการทิ้งรถยนตร์ราคาถูกไว้เป็นสัญลักษณ์ตามถนน)
วัฒนธรรมเมือง พลเมือง ธุรกิจ องค์กรทางสังคม องค์กรต่างๆ และการผลิตผลงานศิลปะ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกันดังกล่าวข้างต้น สิ่งเหล่านี้เป็นเสมือนรหัสของวัฒนธรรมเมืองใหญ่ที่ต้องการการถอดรหัส เพื่อทำความเข้าใจความหมายของวัฒนธรรมเมือง


[1] บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชาบัณฑิตสัมมนา (สห. 845) โครงการปริญญาเอกสหวิทยาการ วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภาคการศึกษาที่ 2/2552
[2] Wirth, Louis. (1938). Urbanism as a Way of Life, American Journal of Sociology Vol. 14, pp. 1-24.
[3] Anderson, Elijah. (1990). Streetwise: Race, Class and Change in the Urban Community. Chicago: University of Chicago Press.

ว่าด้วยทฤษฎีเมือง (ภาค 2)

อัญชลิตา สุวรรณะชฎ[1]


ทฤษฎีนิเวศวิทยาเมือง (Urban Ecology Theory)

ทฤษฎีนิเวศวิทยาเมือง เป็นแนวทางการวิเคราะห์เมืองแบบใหม่ของสำนักชิคาโก (Chicago School) ที่แตกต่างไปจากนักสังคมวิทยาชาวยุโรปอย่างมาร์กซและเวเบอร์ เริ่มต้นจากปี ค.ศ. 1920 ที่มหาวิทยาลัยชิคาโก โรเบิร์ต ปาร์ก (Robert Park) และ เออร์เนส เบอร์เกส (Ernest Burgess) ได้ศึกษาผลกระทบที่มีต่อการใช้ชีวิตของประชาชนจำนวนมากในเมือง ก่อนหน้านี้ปรากฏการณ์คนกลุ่มน้อยเป็นที่สนใจในวิชาสังคมศาสตร์อเมริกา เนื่องจากประชากรสหรัฐอเมริกา 80 เปอร์เซนต์และประชากรส่วนใหญ่ของโลกอาศัยอยู่นอกเมือง ซึ่งเป็นนัยสำคัญที่ชี้ให้คำนึงถึงวัฒนธรรม หรือเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ โดยเริ่มจากการศึกษารูปแบบสังคมในเมืองที่เกิดจากผู้ที่อยู่อาศัย กล่าวคือ รูปแบบวัฒนธรรมเมืองที่นักนิเวศวิทยาเมืองค้นพบ เป็นการปฏิบัติต่อๆ กันมาเป็นประจำตามความเคยชินของชาวบ้านธรรมดาๆ ทั้งกรรมกรผู้ใช้แรงงาน (blue-collar) และพนักงานสำนักงาน (white-collar) 
การศึกษาปรากฏการณ์วัฒนธรรมเมืองแบบดั้งเดิม เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพด้วยวิธีการสังเกต โดยยืนตามมุมถนนสังเกตคนทำงานที่ผ่านไปมาจากปกเสื้อ (ปกน้ำเงิน-ปกขาว) ป้ายชื่อ (ส่วนใหญ่ทำด้วยมือ) ระดับอาชีพ คือ ถ้าใส่เสื้อเชิ้ตสีขาว ปกเสื้อสีขาว ผูกเนคไท แสดงว่าเป็นระดับบริหาร ทำงานในอาคารสำนักงาน นั่นคือ การศึกษาปรากฏการณ์วัฒนธรรมเมืองของนักสังคมศาสตร์ ที่พบว่า เสื้อผ้าแสดงความเป็นเอกภาพของการจ้างงานในสภาพแวดล้อมเมือง เนื่องจากเสื้อผ้าแสดงถึงอาชีพ แม้ไม่ได้แบ่งแยกคนทำงานกับผู้จัดการ นอกจากนี้การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในเมืองเป็นมุมมองในเรื่องของแฟชั่น ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้คาดได้ว่า ผู้คนเหล่านั้นเป็นคนทำงานในย่านศูนย์กลางทางธุรกิจ ทำงานตามบ้าน ทำงานเกี่ยวกับการขนส่ง เป็นต้น
เบอร์เกส ได้สร้างโมเดลในการศึกษาสิ่งแวดล้อมเมือง โดยแบ่งเป็นโซนต่างๆ (Chicago’s Concentric Zones) เขาอธิบายถึงโซนที่เป็นช่วงรอยต่อระหว่างที่พักอาศัยกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่มาจากแดนไกล (Zone II) ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ความผิดปกติของวัฒนธรรม คือ เป็นโซนที่อยู่รอบนอกความเจริญของเมือง มีสถานอาบอบนวด ไนท์คลับ หรือบ่อนการพนันที่ให้บริการกับชาวเมือง โซนนี้เป็นสถานที่เที่ยวตามเมืองต่างๆ ของคนที่อยู่ชานเมือง
อามอส ฮาว์เลย์ (Amos Hawley)[2] ได้ขยายแนวทางการศึกษานิเวศวิทยาเมือง โดยการวิจัยเชิงปริมาณ ศึกษาเปรียบเทียบจำนวนการออกเอกสารสิทธิ์ในเมืองกับเขตชนบท เพื่อหาความหนาแน่นและผลลัพธ์ของปฏิกิริยาทางสังคมที่เพิ่มขึ้น ฮาว์เลย์พบข้อเท็จจริงทางวัฒนธรรมในเชิงลบของเมือง (Turley, Allan 2005: 8)
วอลเตอร์ ฟายเออร์ (Walter Firey)[3] ได้พัฒนาทฤษฎีนิเวศวิทยาเมืองในขณะที่ศึกษาที่    ฮาร์วาร์ด เขาศึกษาชุมชนชาวอิตาเลียนที่อยู่ตอนเหนือสุดของบอสตัน ซึ่งสำนักชิคาโกหมายเหตุไว้ว่า กลุ่มผู้อพยพที่เข้ามาอยู่ในเมืองระหว่างปี ค.ศ. 1880-1920 เป็นผู้อพยพชาวอิตาเลียนและชาวยิว ชาวอิตาเลียนพักอาศัยย่านถนนและอยู่ในถิ่นวัฒนธรรมที่มีชีวิตชีวา ใกล้ร้านอาหาร มีร้านค้าสำหรับสมาชิกชาวอิตาเลียนที่อพยพมาจากชานเมือง ชุมชนชาวอิตาเลียนอาจสูญเสียวัฒนธรรมดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาจากการย้ายถิ่นฐานมาจากชานเมือง และการผสมกลมกลืนกับวัฒนธรรมแบบอังกฤษ (Anglo culture) แต่เพื่อนบ้านก็ยอมรับตัวตนที่แสดงออกมาของชุมชนชาวอิตาเลียน พวกเขาซื้ออพาร์ตเมนต์ในบอสตันตอนบน เพื่ออาศัยอยู่กับครอบครัวแทนการซื้อบ้านในชานเมือง ชุมชนชาติพันธุ์เช่นนี้ได้นิยามรูปแบบการตั้งรกรากที่ประสบความสำเร็จที่สามารถทำนายความต้อง การในการใช้ชีวิตในชานเมืองหรือการปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมตอนเหนือในที่สุด การดำรงวัฒนธรรมที่เป็นอัตลักษณ์ของพวกเขาถูกท้าทายด้วยสมมติฐานง่ายๆ จากการใช้ประโยชน์ในที่ดินตามรูปแบบนิเวศวิทยาเมือง
ฟายเออร์ พบว่า ที่ดินเป็นมูลค่าสัญลักษณ์ ซึ่งไม่เกี่ยวกับความเป็นชาติพันธุ์หรือกลุ่มวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในนิคมบอสตันและบริเวณศูนย์กลางธุรกิจหลักของเมืองแถวอนุสาวรีย์สงครามการปฏิวัติระหว่างอังกฤษกับอเมริกา ที่ดินถูกใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพเพราะเป็นเขตปกครองตนเอง มีโครงการที่อยู่อาศัย มีถนนผ่าน และธุรกิจต่างๆ แต่ความเป็นเมืองและวัฒนธรรมประจำชาติทำให้บริเวณเหล่านี้มีความหมายเกี่ยวข้องกับเชื้อชาติ การพัฒนาวัฒน ธรรมจากจุดเริ่มต้นดังกล่าว ฟายเออร์เห็นว่า กระบวนทัศน์ทางนิเวศวิทยาเมือง ชี้ให้เห็นถึงพื้นที่ (space) ที่ไม่ได้สร้างสรรค์เฉพาะวัฒนธรรม แต่มีความหมายต่อการผลิตวัฒนธรรมด้วย (Turley, Allan 2005: 8)
ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้ทางสังคมวิทยา จะเริ่มต้นด้วยการวิพากษ์นักทฤษฎีสำนักมาร์กซิสต์ ด้วยข้อถกเถียงเรื่องกระบวนทัศน์ว่าด้วยเมืองที่เกี่ยวกับเชื้อชาติ/ชาติพันธุ์ แต่วิธีการวิเคราะห์แบบนิเวศวิทยาเมือง เช่น โรเบิร์ต ปาร์ก (Robert Park) เออร์เนส เบอร์เกส (Ernest Burgess) อามอส ฮาว์เลย์ (Amos Hawley) และ วอลเตอร์ ฟายเออร์ (Walter Firey) ก็ยังยืนอยู่บนมุมมองของคนขาวที่ได้เปรียบทางโครงสร้างอำนาจในเมือง อย่างไรก็ตาม ยังมีทฤษฎีความยุ่งเหยิงของเมืองที่ให้ความกระจ่างต่อเมืองได้มากกว่าความสามารถของนักนิเวศวิทยาเมือง

(โปรดติดตามต่อ ภาค 3)


[1] บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชาบัณฑิตสัมมนา (สห. 845) โครงการปริญญาเอกสหวิทยาการ วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภาคการศึกษาที่ 2/2552
[2] Hawley, Amos. (1971). Urban Society. New York: Ronald Press.
[3] Firey, Walter. (1945). Sentiment and Symbolism as Ecological Variable, American Sociological Review. pp. 140-148