วันอังคารที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2554

การบริหารทุนมนุษย์ด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง[1]
อัญชลิตา สุวรรณะชฎ

เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศ ให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน...
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง จึงเปรียบเสมือนแสงเทียนที่ส่องสว่างนำทางชีวิตท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ เศรษฐกิจพอเพียง มิได้หมายถึงการใช้จ่ายอย่างประหยัด การไม่เป็นหนี้ การไม่ขวนขวายทำสิ่งใดๆ อย่างเต็มที่ หรือใช้เป็นเหตุผลเพื่อยอมรับสภาพที่เป็นอยู่ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้อธิบายว่า องค์ประกอบของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี การตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในระดับพอเพียง ประกอบด้วย 2 เงื่อนไข คือ ความรู้และคุณธรรม (พิพัฒน์ ยอดพฤติการ, 2550: 23-24)

แผนภาพที่ 1 หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

  
ที่มา: สมบัติ กุสุมาวลี. การบริหารทรัพยากรมนุษย์ในองค์การตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง. กรุงเทพฯ:  คณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.

เศรษฐกิจพอเพียง : ระบบเศรษฐกิจและวิถีแห่งการปฏิบัติ
การพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy) คือ การพัฒนาซึ่งตั้งอยู่บนหลักสายกลาง ที่คำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี โดยอาศัยความรู้และคุณธรรม ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอนของบุคคลในทุกระดับชั้น อย่างไรก็ตาม คุณลักษณะ 3 ประการ และเงื่อนไข 2 ประการดังกล่าว เป็นพื้นฐานที่สำคัญของเศรษฐกิจพอเพียงที่จะต้องศึกษาทำความเข้าใจ เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติตน (พิพัฒน์ ยอดพฤติการ, 2550: 24) ดังนี้
คุณลักษณะ 3 ประการของเศรษฐกิจพอเพียง
1.     ความพอประมาณ หมายถึง ความเหมาะสมของการดำเนินงาน ทั้งในแง่ของขนาดที่ไม่เล็กเกินไปหรือไม่ใหญ่จนเกินตัว แต่เป็นไปตามอัตภาพและสิ่งแวดล้อม รู้จักจัดทำเป็นขั้นตอน เพื่อให้การดำเนินงานมีความก้าวหน้า โดยที่ไม่ทำให้ตนเองและผู้อื่นเดือดร้อน (พิพัฒน์ ยอดพฤติการ, 2550: 34) ดังพระราชดำรัสที่ว่า
ให้พอเพียงนี้ ก็หมายความว่า มีกินมีอยู่ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหราก็ได้  แต่ว่าพอ แม้บางอย่างอาจจะดูฟุ่มเฟือย แต่ถ้าทำให้มีความสุข ถ้าทำได้ก็สมควรที่จะทำ สมควรที่จะปฏิบัติ
2.     ความมีเหตุผล หมายถึง การพิจารณาที่จะดำเนินงานใดๆ ด้วยความถี่ถ้วนรอบคอบ ไม่ย่อท้อ ไร้อคติ คำนึงถึงเหตุและปัจจัยแวดล้อมทั้งหมด เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างถูกต้องดีงาม เกิดประสิทธิผล เกิดประโยชน์ และความสุข โดยปราศจากการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น (พิพัฒน์     ยอดพฤติการ, 2550: 37, 42) ดังพระราชดำรัสที่ว่า
เศรษฐกิจพอเพียงนี้ ขอย้ำว่า เป็นทั้งเศรษฐกิจ หรือความประพฤติที่ทำอะไรเพื่อให้เกิดผล โดยมีเหตุและผล คือ เกิดผลมันมาจากเหตุ ถ้าทำเหตุที่ดี ถ้าคิดให้ดี ให้ผลที่ออกมา คือ สิ่งที่ติดตามเหตุ การกระทำ ก็จะเป็นการกระทำที่ดี และผลของการกระทำนั้น ก็จะเป็นการกระทำที่ดี ดีแปลว่ามีประสิทธิผล ดีแปลว่ามีประโยชน์ ดีแปลว่ามีความสุข
3.     การมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี หมายถึง การจัดองค์ประกอบของการดำเนินงาน ให้มีสภาพพร้อมรองรับต่อผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายในได้เป็นอย่างดี (พิพัฒน์ ยอดพฤติการ, 2550: 57-58) ดังพระราชดำรัสที่ว่า
ทุกวันนี้สถานการณ์ต่างๆ ในโลกและในบ้านเมืองของเราเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วย่อมทำให้มีความคิด ความเห็นและหลักการอย่างใหม่เกิดขึ้นมามาก การจัดวางหลักการวางระเบียบปฏิบัติในการบริหารและดำเนินการศึกษา จำต้องกระทำให้สอดคล้อง ให้ถูกเหมาะกับสภาพที่เปลี่ยนมาด้วย เพื่อที่จะได้ก้าวหน้าไปในทางเจริญ
เงื่อนไข 2 ประการของเศรษฐกิจพอเพียง
1.     เงื่อนไขความรู้ หมายถึง เครื่องอาศัยของการดำเนินงานเพื่อให้เป็นไปอย่างถูกต้อง ประกอบด้วย ความรอบรู้ คือ ความรู้ลึกในงานที่ทำและความรู้กว้างในสภาวะแวดล้อมและสถานการณ์ที่เกี่ยวพันกับงานที่ทำ ความระลึกรู้ (สติ) คือ การยั้งคิดพิจารณาและรู้ทันสภาวการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนที่จะกระทำการใดๆ และความรู้ชัด (ปัญญา) คือ การเห็นและเข้าใจสิ่งต่างๆ ได้อย่างกระจ่างชัดถูกต้องตามเหตุตามผลและตามจริง (พิพัฒน์ ยอดพฤติการ, 2550: 61, 63) ดังปรากฏในพระบรมราโชวาทฯ ตอนหนึ่งว่า
ความรู้นั้นเป็นหลักของการงาน ผู้ที่จะทำงานอย่างใด จำต้องมีความรู้ในเรื่องนั้นก่อนเป็นเบื้องต้น ส่วนความคิดเป็นเครื่องช่วยความรู้ คือ ช่วยให้ใช้ความรู้ได้ถูกต้อง เช่น จะใช้อย่างไร ที่ไหน เมื่อใด เมื่อมีความรู้สำหรับงาน มีความคิดสำหรับพิจารณาใช้ความรู้ให้ถูกต้องแล้ว ย่อมทำงานได้ผลสมบูรณ์ดี ยากที่จะผิดพลาด ความรู้กับความคิดจึงไม่ควรแยกจากกัน
2.     เงื่อนไขคุณธรรม หมายถึง เครื่องอาศัยของการดำเนินงานเพื่อให้เป็นไปอย่างดีงาม ประกอบด้วย ความซื่อสัตย์สุจริต คือ ความประพฤติชอบ มีการพูดและการกระทำซื่อตรงต่อหน้าที่การงาน ต่อตนเอง และต่อผู้อื่นที่เกี่ยวข้อง มีเจตนาบริสุทธิ์ ไม่คดโกง ไม่หลอกลวง และไม่เอารัดเอาเปรียบ ความอดทน มีความเพียร คือ ความบากบั่น ความกล้าแข็ง มีความหนักแน่น ไม่ท้อถอย ทำให้การดำเนินงานรุดหน้าเรื่อยไปจนประสบความสำเร็จ และความรอบคอบระมัดระวัง คือ การพิจารณาอย่างถี่ถ้วนในทุกแง่ทุกมุมก่อนที่จะดำเนินงาน เพื่อมิให้เกิดความเผลอเรอและพลั้งพลาด  (พิพัฒน์ ยอดพฤติการ, 2550: 71, 73) ดังพระบรมราโชวาทฯ ที่มีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า
การที่จะทำงานให้สัมฤทธิ์ผลที่พึงปรารถนา คือ ที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรมด้วยนั้น จะอาศัยความรู้แต่เพียงอย่างเดียวมิได้ จำเป็นต้องอาศัยความสุจริต ความบริสุทธิ์ใจ และความถูกต้องเป็นธรรมประกอบด้วย เพราะเหตุว่าความรู้นั้นเป็นเหมือนเครื่องยนต์ ที่ทำให้ยวดยานเคลื่อนไปได้ประการเดียว ส่วนคุณธรรมดังกล่าวแล้ว เป็นเหมือนหนึ่งพวงมาลัยหรือหางเสือ ซึ่งเป็นปัจจัยที่นำพายวดยานดำเนินไปถูกทางด้วยความสวัสดี คือ ปลอดภัยจนบรรลุถึงจุดหมายที่พึงประสงค์
ดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่า เศรษฐกิจพอเพียงเป็นทั้งระบบเศรษฐกิจและวิถีแห่งการปฏิบัติตนที่ถูกออกแบบโดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางกายภาพและบริบททางสังคม ทั้งคุณลักษณะที่สำคัญ 3 ประการ คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี ประกอบกับเงื่อนไขความรู้และคุณธรรม ทั้ง 2 ประการ แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาที่เริ่มต้นจากการพัฒนาตนเองและครอบครัว เมื่อมีความพอเพียงในการดำเนินชีวิตที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ในระดับหนึ่งแล้ว ก็จะรวมพลังกันในระดับกลุ่มหรือองค์กร เพื่อร่วมกันดำเนินงานในด้านต่างๆ ทั้งด้านการผลิต การตลาด สวัสดิการ การศึกษา สังคม และศาสนา โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน เมื่อมีความพอเพียงในระดับที่สองแล้ว ก็จะร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกสร้างเครือข่าย เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านต่างๆ ที่เป็นความช่วยเหลือเกื้อกูลร่วมมือประสานกันทุกฝ่าย (พิพัฒน์ ยอดพฤติการ, 2550: 83-85) ดังแผนภาพต่อไปนี้

แผนภาพที่ 2 ระดับของเศรษฐกิจพอเพียง


ที่มา: พิพัฒน์ ยอดพฤติการ. (2550). เศรษฐกิจพอเพียง หมายถึง อะไร. กรุงเทพฯ: สถาบันไทยพัฒน์. น. 85.

ทุน มนุษย์ และองค์กร : การบริหารคุณภาพด้วยเศรษฐกิจพอเพียง
ในปัจจุบันสังคมระบบทุนนิยมให้ความสำคัญกับ ทุน (Capital) ที่มีการสร้างสมและบริหารอย่างมีประสิทธิภาพที่เชื่อว่าจะส่งผลให้เกิดความมั่งคั่งไพบูลย์ องค์กรที่จะสามารถอยู่รอดและเติบโตได้ ผู้บริหารจะต้องให้ความสำคัญกับ ทุน ในองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทุนมนุษย์ (Human Capital) ซึ่งถือเป็นทรัพย์สินที่สำคัญที่สุดขององค์กร (วัลยาภรณ์ ทังสุภูติ, 2553: 35)
นักวิชาการด้านการจัดการได้ให้ความหมายคำว่า ทุนมนุษย์ (Human Capital) หมายถึง องค์ประกอบโดยรวมของความรู้ ทักษะ สมรรถนะ ประสบการณ์ และค่านิยม ซึ่งเป็นสิ่งที่คนสั่งสมไว้ในตัว เพื่อใช้ประโยชน์ในการทำงานหรือช่วยให้องค์การประสบความสำเร็จ
                แนวคิดเรื่องการบริหารทุนมนุษย์ (Human Capital Management) เป็นการปฏิวัติกรอบคิดด้านการจัดการคนในองค์กร กล่าวคือ แนวคิดนี้ไม่สนใจวุฒิการศึกษาหรือความอาวุโส แต่ใส่ใจเป็นอย่างยิ่งต่อสิ่งที่ผู้ปฏิบัติงานสั่งสมไว้เป็น ทุน ในตัว โดยมีเป้าหมายในการทำให้คนในองค์กรช่วยกันนำ ทุน ที่แต่ละคนมีนั้นออกมาใช้ในการทำงาน ผลักดันให้องค์กรบรรลุตามเป้าหมายความสำเร็จที่ตั้งไว้ และเป็นหน้าที่ที่องค์กรจะต้องมีการ ลงทุน ในมนุษย์ เพื่อเพิ่มมูลค่าทุนในตัวของเขา ขณะเดียวกันผู้ปฏิบัติงานแต่ละคน แต่ละระดับก็ต้องรับผิดชอบพัฒนาทุนในตัวเองให้มีความเหมาะสม ทันสมัย และเป็นที่ต้องการขององค์กรตลอดเวลา (employability) ซึ่งต้องอาศัยการเรียนรู้ (learning) ไม่ใช่แค่การอบรม (training) อย่างเดียว
จากแนวคิดการบริหารทุนมนุษย์ที่ให้ความสำคัญกับทุนในตัวคน (Man) ไม่ใช่ทุนที่เป็นตัวเงิน (Money) หรือวัตถุ (Materials) ดังนั้น การสะสมทุนในตัวคนจึงเป็นเรื่องของการสะสมความรู้ ทักษะ สมรรถนะ ประสบการณ์ และค่านิยม ซึ่งมีความเป็นนามธรรมที่เกี่ยวข้องกับจิตใจโดยตรง Howard Gardner นักวิชาการด้านการศึกษา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้เขียนหนังสือ Five Minds for the Future ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญขององค์ประกอบทักษะแห่งจิต 5 ประการ (สุรพงษ์ มาลี, 2550: 62-66) คือ
1) จิตแห่งวิทยาการ (Disciplined Mind) หมายถึง การเรียนรู้ตลอดชีวิต คิดเป็น ทำเป็น
2) จิตแห่งการสังเคราะห์ (Synthesizing Mind) หมายถึง การสั่งสม ต่อยอด และสร้างนวัตกรรมความรู้
3) จิตแห่งการสร้างสรรค์ (Creative Mind) ที่เชื่อว่า ความคิดสร้างสรรค์ สร้างด้วยการหมั่นฝึกฝน
4) จิตแห่งความเคารพ (Respectful Mind) หมายถึง การเปิดใจกว้างพร้อมรับฟังทุกความคิดเห็น
5) จิตแห่งคุณธรรม (Ethical Mind)
Gardner เน้นว่าจิตทั้ง 5 มีความสำคัญต่อมนุษย์ในโลกยุคใหม่และคนเราจะขาดจิตใดจิตหนึ่งใน 5 ประการนี้ไม่ได้ จิตทั้ง 5 มีผลต่อการพัฒนาตัวบุคคลทั้งในด้านการทำงานและการดำเนินชีวิต นำไปสู่การเป็นคนที่มีคุณภาพของสังคม ที่จะกลายเป็นพลังขับเคลื่อนองค์กร สังคม และประเทศชาติให้ก้าวหน้าไปสู่จุดหมายและยืนหยัดอยู่ได้ในโลกแห่งการแข่งขันยุคใหม่ แนวคิด จิตทั้ง 5 ของ Gardner นั้น ให้ความสำคัญกับเงื่อนไขความรู้และคุณธรรม ที่สอดคล้องกับแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นเป้าหมายการบริหารประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 ที่มุ่งเน้นการพัฒนาทุนมนุษย์ให้มีความรู้คู่คุณธรรม พร้อมที่จะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ขององค์กร รวมทั้งมีค่านิยมที่สอดคล้องและส่งเสริมการทำงานที่มุ่งสู่ความสำเร็จ
                ความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบของจิตโดยรวมกับแนวคิดการบริหารทุนมนุษย์และการบริหารองค์กรอย่างมีคุณภาพด้วยเศรษฐกิจพอเพียงนั้น ได้มีการศึกษาวิจัย บทบาทของแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงที่มีต่อภาวะจิตลักษณะของบุคลากรในองค์การที่บริหารจัดการโดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง พบว่า แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ทุกระดับ ทั้งระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กร ประเทศ และประชาคมโลก ภาวะจิตลักษณะของบุคลากรที่ปฏิบัติงานในองค์กรที่บริหารจัดการโดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง จะมีระดับสูงกว่าภาวะจิตลักษณะของบุคลากรที่ปฏิบัติงานในองค์กรที่บริหารจัดการโดยใช้แนวคิดอื่น ซึ่งเห็นได้จากด้านรายได้ กล่าวคือ บุคลากรในองค์กรที่บริหารจัดการโดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง จะมีรายได้เพียงพอกับรายจ่าย สามารถชำระหนี้ได้ภายในเวลาที่กำหนด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนเหล่านี้ในแต่ละเดือนจะมีเงินออมอย่างน้อย 10% แสดงให้เห็นว่าแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมีผลต่อความพอเพียงในระดับบุคคลในการดำเนินชีวิต และทำให้ระดับครอบครัวสามารถพึ่งตนเองได้ ชุมชนที่บริหารจัดการโดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง มีการรวมตัวเป็นกลุ่มหรือสหกรณ์อย่างเหนียวแน่น เพื่อดำเนินกิจการอันเป็นประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในด้านความเป็นอยู่ สวัสดิการ การศึกษา และศาสนา มีการระดมทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านต่างๆ มากกว่าชุมชนที่บริหารจัดการโดยใช้แนวคิดอื่น นอกจากนี้มีข้อค้นพบความสัมพันธ์ระหว่างภาวะจิตลักษณะของคนดี คนเก่ง กับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้มีข้อเสนอว่า การจะนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ให้เกิดผลดีต้องพัฒนาองค์ประกอบของจิตด้านต่างๆ การส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตของประชากรโลก ย่อมทำให้โลกมีประชากรคุณภาพ คือ เป็นทั้งคนดีและคนเก่ง ที่จะนำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนสำหรับมนุษยชาติ (ธีระศักดิ์ กำบรรณารักษ์ ทิพย์สุดา เมธีพลกุล ทัณฑิกา เทพสุริวงศ์ บุรชัย อัศวทวีบุญ, 2553: 3-13)
เมืองโบราณ เป็นตัวอย่างขององค์กรเอกชนแห่งหนึ่งที่น้อมนำแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการจัดการทุนมนุษย์ โดยทำความเข้าใจคนและองค์กรอย่างรอบด้าน และสามารถพลิกวิกฤติเป็นการอยู่รอดอย่างยั่งยืน
กันธร ทองธิว ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์เมืองโบราณ ซึ่งสานต่อความฝันของคุณตาในการสร้างแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมให้กับคนรุ่นหลัง ได้พลิกภาวะการขาดทุนปีละกว่า 50 ล้านบาท ตลอดระยะเวลากว่า 47 ปี มาเป็นการอยู่รอดอย่างยั่งยืน ด้วยการนำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการบริหารจัดการชุมชนเมืองโบราณ ซึ่งมีพนักงานกว่า 400 ชีวิต ให้อยู่ร่วมกันได้ด้วยการพึ่งพาตนเอง โดยเชื่อว่าความพอเพียงเป็นเรื่องของวัฒนธรรมของคนท้องถิ่นสยามที่มีมาช้านาน
จากการเยี่ยมชมเมืองโบราณและการสาธิตโดยวิทยากรประจำฐานต่างๆ ทั้ง 9 ฐานเรียนรู้ ในค่ายกสิกรรมธรรมชาติเมืองโบราณ พบว่า กันธรมิได้เพียงแต่คิดหรือบรรยายเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาถ่ายทอดบอกกล่าวด้วยวาจาเท่านั้น หากแต่ได้นำมาปฏิบัติอย่างจริงจัง เพื่อความพอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็นของชุมชนเมืองโบราณอย่างเป็นรูปธรรม ยกตัวอย่างเช่น การนำแนวคิดการผสมผสานการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ควบคู่ไปกับความต้องการด้านเศรษฐกิจและสังคมของประชาชน การบำรุงดินโดยการห่มดินหรือห่มฟางจากการเกี่ยวหญ้า เพื่อคืนความชุ่มชื้นให้แก่ดินก่อนลงมือเพาะปลูก ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง กล่าวคือ ปลูกไม้ที่เป็นอาหาร เป็นยา และไว้ใช้สอย สร้างบ้าน ได้แก่ พืชผัก พืชสมุนไพร พืชเศรษฐกิจ เช่น ต้นสัก เป็นต้น เพื่อให้ พอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น
โรงแรมชุมพรคาบาน่า รีสอร์ท และศูนย์กีฬาดำน้ำ เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่ได้น้อมนำพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจ เพื่อแก้ปัญหาอันเกิดจากหนี้สถาบันการเงิน เมื่อปี พ.ศ. 2542 หลังประสบภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ต้มยำกุ้ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 วริสร รักษ์พันธุ์ เจ้าของโรงแรมแห่งนี้ ใช้ 3 ค. สูตรมหัศจรรย์ฟันฝ่าวิกฤต ได้แก่ คล่องแคล่ว ความพอเพียง ครื้นเครง (วริสร รักษ์พันธุ์, 2553: 70-73) ดังนี้
คล่องแคล่ว หมายถึง เราจะต้องฝึกฝนงานที่จะต้องทำให้มีความรู้ความชำนาญ เพื่อให้เกิดการคล่องแคล่ว รู้จริง อันเนื่องมาจากการที่เราได้ลงมือปฏิบัติจริง
ความพอเพียง โดยตั้งอยู่บน 3 พ. คือ พออยู่ พอกิน พอใช้
ครื้นเครง คือ ไม่เครียด สามัคคีกัน ทำให้ไม่เหงา และทำให้เรามีกัลยาณมิตร
กิจกรรมทั้งหมดมาจากหลักการระเบิดจากข้างใน คือ มาจากความพร้อมของตัวเอง แล้วขยายผลสู่เครือข่าย บนพื้นฐานของความไม่เบียดเบียน
จากตัวอย่างความสำเร็จในการน้อมนำพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการบริหารของ เมืองโบราณ และโรงแรมชุมพรคาบาน่า รีสอร์ท และศูนย์กีฬาดำน้ำ นั้น จะเห็นได้ว่าทั้งสององค์กรต่างให้ความสำคัญกับหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้นำ ซึ่งมีบทบาทในการบริหารทุน มนุษย์ และองค์กรอย่างมีคุณภาพ ประกอบกับการวางระบบการทำงานที่มีความเหมาะสม รอบคอบ และสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมภายในและภายนอกองค์กร ทำให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพสูงขึ้น
การบริหารคุณภาพ (Total Quality Management: TQM) เป็นการบริหารตามข้อกำหนดขององค์กรมาตรฐานสากล โดยการสนับสนุนขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งประเทศไทยได้มีฉันทามติให้การบริหารภาครัฐและภาคเอกชนมีการบริหารคุณภาพ เมื่อ พ.ศ. 2530 และมีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มาตรา 75 และรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 78 (2) ดังนั้น การบริหารคุณภาพด้วยเศรษฐกิจพอเพียง จึงเป็นการยกระดับมาตรฐานการบริหารให้มีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น โดยอาศัยปัจจัยสำคัญ 2 ประการ คือ ภาวะผู้นำ (leadership) และระบบที่ดี (quality system) ซึ่งนอกจากจะสามารถรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจของโลกได้ ยังสามารถบูรณาการทุนมนุษย์ และองค์กรให้ดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน (ปรีดา กุลชล, 2552: 9-10)
 
บทส่งท้าย
การบริหารแบบเดิมๆ อาจสนใจกับความสามารถเพียงบางด้านของมนุษย์ เช่น ทำงานเก่ง คล่องแคล่ว เมื่อ คน เป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของสังคมและองค์กร การบริหารคน จึงเป็นสิ่งเดียวกับการบริหารองค์กร แต่ตัวตนของคนเรานั้นมีความซับซ้อนหลากมิติที่เชื่อมโยงอยู่กับครอบครัว สังคม และประเทศชาติ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ก้าวข้ามเขตแดนและชาติพันธุ์ ดังนั้น การพัฒนามนุษย์ เพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ต้องเข้าใจมิติสภาพแวดล้อมต่างๆ รวมถึงการพัฒนา ความเข้าใจคนและองค์กรอย่างรอบด้าน การบริหารคนแบบองค์รวม เป็นอีกแนวคิดหนึ่งของการบริหารที่ขยายขอบเขตความรู้ออกไปอย่างกว้างขวาง มี 4 องค์ประกอบ คือ บริหารองค์กร บริหารคน บริหารตน และบริหารสังคม
ถ้าเรามองประเทศไทยเป็น 1 องค์กร คนไทยเป็นคนที่สนใจความรู้สึกความสัมพันธ์ระหว่างกันมาก ความละเอียดอ่อนของจิตใจคนไทยในอดีต ที่สะท้อนออกมาเป็นวัฒนธรรมงดงามต่างๆ มาจากรากฐานการยึดมั่นในคุณธรรมความดี ซึ่งทำให้เมืองไทยเคยเป็นเมืองที่คนกล่าวขวัญถึง ว่าเป็นสยามเมืองยิ้ม ยิ้มที่สดใส มีชีวิตชีวา เพราะมาจากจิตใจที่เบิกบานอย่างแท้จริง เป็นประเทศที่มีความสุขสงบ ในขณะที่อเมริกาเป็นชาติที่เน้นผลลัพธ์ของงานเป็นสำคัญมากกว่า เมื่อนำหลักการมาใช้กับงาน คนทำงานจึงรู้สึกทรมานใจ อึดอัดกับการใช้ความรู้ดั้งเดิมที่ไม่ได้ปรับปรุงแก้ไข กลายเป็นว่าผลลัพธ์ในการทำงานแย่ลงกว่าเดิมในบางกรณี เมื่อมีการศึกษาใหม่ๆ หรือกระแสความคิดใหม่ๆ เข้ามา ส่วนใดที่เหมาะสมควรได้รับการพัฒนาปรับปรุงก่อนนำมาใช้กับคนไทย ส่วนใดที่เรามีอยู่แล้ว เราจะต่อยอดจากภูมิปัญญาเดิมที่งดงามได้อย่างไร เพื่อการสร้างต่อ พัฒนาเมืองไทยให้เป็นสุขอย่างยั่งยืน (มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ, 2551: 176-177)
กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกที่นำไปสู่กระบวนทรรศน์ใหม่ (new paradigm) เป็นสิ่งที่นักบริหารต้องตระหนักและปรับตัวอย่างรู้เท่าทัน เศรษฐกิจพอเพียงเป็นทฤษฎีใหม่หรือกระบวนทรรศน์ใหม่ของโลกที่จำเป็นต้องปฏิบัติเพื่อขจัดความยากจนหรือความไม่เพียงพอ นอกจากนี้ยังมีบทบัญญัติไว้เป็นแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจในรัฐธรรมนูญ จึงเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลที่ไม่อาจละเลยการปฏิบัติได้ (ปรีดี กุลชล, 2552: 30-32)
การพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy) คือ การพัฒนาซึ่งตั้งอยู่บนหลักสายกลาง ที่คำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี โดยอาศัยความรู้ และคุณธรรม ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอนของบุคคลในทุกระดับชั้น การนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัตินั้น ต้องคำนึงถึงความเกี่ยวข้องของแต่ละคุณลักษณะและเงื่อนไขต่างๆ แบบองค์รวม ทั้งคุณลักษณะด้านความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี ควบคู่ไปกับเงื่อนไขความรู้และคุณธรรม มิอาจใช้วิธีแยกส่วนสำหรับการปฏิบัติได้ (พิพัฒน์ ยอดพฤติการ, 2550: 24, 34, 99)
ถ้าประชากรโลกน้อมนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตก็จะทำให้โลกมีประชากรคุณภาพ คือ เป็นทั้งคนดีและคนเก่ง ที่จะนำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนสำหรับมนุษยชาติ ทั้งในปัจจุบันและอนาคตต่อไป

---------------------------------- 
บรรณานุกรม

ธีระศักดิ์ กำบรรณารักษ์ ทิพย์สุดา เมธีพลกุล ทัณฑิกา เทพสุริวงศ์ บุรชัย อัศวทวีบุญ. (2553). บทบาทของแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงที่มีต่อภาวะจิตลักษณะของบุคลากรในองค์การที่บริหารจัดการโดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง, วารสารวิจัยทรัพยากรมนุษย์ ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 มกราคม-มิถุนายน 2553. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. น. 3-13.
พิพัฒน์ ยอดพฤติการ. (2550). เศรษฐกิจพอเพียง หมายถึง อะไร. กรุงเทพฯ: สถาบันไทยพัฒน์.
ปรีดา กุลชล. (2552). TQM เศรษฐกิจพอเพียง. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ อนิเมทกรุ๊ป.
มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ. (2551). บริหารคนโดยองค์รวม The holistic people management.กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน.
เมืองโบราณ. เอกสารเผยแพร่ เมืองโบราณ. สมุทรปราการ: บริษัท เมืองโบราณ จำกัด.
สมบัติ กุสุมาวลี. การบริหารทรัพยากรมนุษย์ในองค์การตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง. กรุงเทพฯ: คณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.
สุรพงษ์ มาลี. (2550). “Howard Gardner กับจิตสาธารณะ”: อีกมุมมองหนึ่งของแนวคิดทุนมนุษย์, วารสารข้าราชการ ปีที่ 52 ฉบับที่ 6 เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2550. นนทบุรี: สำนักงาน กพ.
วริสร รักษ์พันธุ์. (2553). รอดเพราะทำ: ฅ ฅนต้นแบบ, ๓ ค. สูตรมหัศจรรย์    ฟันฝ่าวิกฤต, จุดเปลี่ยน มีนาคม 2010. น. 70-73.
วัลยาภรณ์ ทังสุภูติ. (2553). การพัฒนาทุนมนุษย์ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตามแนวทางการจัดการความรู้, เอกสารประกอบการสัมมนาทางวิชาการ ครั้งที่ 3/1 โครงการปรัชญาดุษฎีบัณฑิตทางสังคมศาสตร์ สาขาวิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
วิวัฒน์ ศัลยกำธร. (2553). ชายเพี้ยนแห่งมหาลัยคอกหมู. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์คอกหมู สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง.
Candidate of Economic Sciences Verhoglyadova N. I., Regional Higher Education “Strategy”, the Institute for Entrepreneurship. Definition and Content Interpretation of Human Capital. Annals. Computer Science Series. 4th Tome 1st Fasc. 2006. http://www.ise.in.th/khorkhon.php




[1] อัญชลิตา สุวรรณะชฎ. (2554). การบริหารทุนมนุษย์ด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง, วารสารดำรงราชานุภาพ ฉบับที่ 39 ปีที่ 11 น. 64-73. กรุงเทพฯ: สถาบันดำรงราชานุภาพ สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงมหาดไทย.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น