วันจันทร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ยุคสมัยใหม่กับสุญนิยม: เสรีภาพและอัตลักษณ์ของปัจเจกชน

อัญชลิตา สุวรรณะชฎ



แนวคิดสมัยใหม่ (Modernity) เป็นผลสืบเนื่องมาจากยุคแห่งภูมิปัญญา (Enlightenment) และการปฏิวัติโครงสร้างทางวิทยาศาสตร์ ในศตวรรษที่ 18 ซึ่งทำให้เกิดวิวัฒนาการของวิชาการสมัยใหม่ เป็นยุคที่นักคิดนักเขียนในยุโรปเริ่มตั้งข้อสงสัยต่อศาสนจักร ไม่เชื่อถือต่ออำนาจแบบประเพณีนิยม และต่อต้านการใช้สิทธิอำนาจแบบเด็ดขาด (anti-authoritarian) ผู้ที่มีการศึกษาได้เปิดโลกทัศน์อย่างกว้างไกล และเคารพในเหตุผล โดยเห็นว่าเหตุผลเป็นเครื่องนำทางและบ่งชี้ถึงคุณสมบัติของมนุษย์ กล่าวได้ว่า เป็นยุคของการก่อเกิดแนวคิดแบบเสรีนิยม

ขณะเดียวกันแนวคิดการปฏิเสธต่อการมีอยู่ของหลักความรู้และหลักความจริง โดยมีความเชื่อที่ว่าสถาบันทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม จะต้องถูกทำลายเพื่อให้เกิดสถาบันใหม่ขึ้นมานั้น เนื่องมาจากการวิพากษ์วัฒนธรรมมวลชน ของ เฟรดเดอริค นิทเช่ (Friedrich Nietzsche) ที่ถือเป็นผู้ริเริ่มยุคสมัยใหม่ (Modernism) โดยนำเสนอแนวคิดว่าด้วยเรื่องสุญนิยมหรือความว่างเปล่า (Nihilism)

ยุคสมัยใหม่กับสุญนิยม

ยุคสมัยใหม่ (Modernism) คือ ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีลักษณะสังคมที่ควบคุมบังคับยาก หรืออาจเรียกว่าเป็นสังคมแบบเสี่ยงภัย (risk society) ยกตัวอย่างเช่น มีการสร้างระเบิดนิวเคลียร์ เมื่อต้นศตวรรษที่ 20 ปัญญาชนของสำนัก Frankfurt School ได้ใช้ทฤษฎี “Critical Theory” วิพากษ์ลัทธิทุนนิยมอุตสาหกรรมแห่งโลกสมัยใหม่ว่า “ในความรู้สึกโดยทั่วไปเกี่ยวกับความคิดที่ก้าวหน้าส่วนใหญ่ ยุค Enlightenment มักจะมีเป้าหมายอยู่ที่การปลดปล่อยมนุษย์ให้เป็นอิสระจากความหวาดกลัวและได้สถาปนาอำนาจอธิปไตยของพวกเขาขึ้นมา กระนั้นก็ตาม โลกที่ถูกทำให้สว่างหรือตื่นขึ้นมาอย่างเต็มที่ (fully enlightened earth) จะแผ่รังสีความหายนะออกมาในลักษณะของผู้มีชัยชนะ... สิ่งที่มนุษย์ต้องการเรียนรู้จากธรรมชาติก็คือ จะใช้มันอย่างไร เพื่อที่จะครอบงำธรรมชาติและมนุษย์คนอื่นๆ เอาไว้ได้ทั้งหมด โดยปราศจากความเมตตาสงสาร”

คำว่า “Modern” หรือ “สมัยใหม่” หมายถึง ความใหม่ ความร่วมยุคร่วมสมัย ในทางศิลปะสำหรับผู้สร้างงานศิลปะล้วนแล้วแต่ “ใหม่ (modern)” เสมอ ไม่ว่าจะเป็นยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance) ในฟลอเรนซ์ หรือในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ในนิวยอร์ค หรือศิลปะที่เขียนขึ้นในวันนี้ ตามรูปแบบของศิลปะคริสต์ศตวรรษที่ 15 ก็ยัง “ใหม่ (modern)” ในความหมายนี้ หรืออีกนัยหนึ่ง “สมัยใหม่” ก็คือ สิ่งที่ไม่เก่า สิ่งที่ตรงกันข้ามกับ “เก่า” หรือ “ประเพณี”

ประมาณปี ค.ศ. 1860 - 1970 คำว่า “สมัยใหม่” ถูกใช้อธิบายรูปแบบและอุดมคติหรืออุดมการณ์ในการสร้างสรรค์ศิลปะสมัยนั้น ลักษณะสำคัญของ “ศิลปะสมัยใหม่” (Modern Art) และ “ลัทธิสมัยใหม่” (Modernism) คือ ทัศนคติใหม่ๆ ที่มีต่ออดีตและอนาคต ซึ่งเป็นไปแบบสุดขั้ว โดยเริ่มต้นมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 18 ศิลปินเริ่มที่จะให้การยอมรับการเขียนภาพ “เหตุการณ์ปัจจุบัน-ร่วมสมัย” ว่ามีคุณค่าทางศิลปะเท่าเทียมกับภาพเขียนเรื่องราวในอดีตตั้งแต่ยุคโบราณ หรือยุคประวัติศาสตร์จากคัมภีร์ไบเบิล การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขนานใหญ่ทั่วยุโรปในปี ค.ศ. 1848 ประกอบกับการอ่อนแรงของศิลปะแบบทางการ หรือศิลปะตามหลักวิชา (academic art) ทำให้กระแสศิลปะสมัยใหม่เติบโตอย่างรวดเร็ว

ส่วนคำว่า “สุญนิยม” (Nihilism) มาจากคำว่า “Nihil” ภาษาลาติน แปลว่า ความว่างเปล่า โดย นิทเช่ เสนอให้เห็นถึงความตกต่ำและเสื่อมถอยของอารยธรรมตะวันตกในแง่อภิปรัชญา ญาณวิทยา ศีลธรรม การเมืองสมัยใหม่ ส่งผลต่อจิตวิญญาณของมนุษย์ เป็นการเดินทางไปสู่สุญนิยม คือ การมองว่าโลกนี้สิ้นหวัง ภาวะสมัยใหม่ให้ความสำคัญต่อความเป็นเหตุผลนิยม (rationalism) วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ความเชื่อมั่นในความก้าวหน้าของสังคมและมนุษยชาติ พระเจ้าตายแล้ว (God is dead) วัฒนธรรมของชนชั้นกลาง การเมืองสมัยใหม่ และความเหลื่อมล้ำทางสถานะระหว่างชนชั้นสูงกับชนชั้นต่ำ ทำให้มนุษย์ต้องเผชิญหน้ากับสภาพแห่งความว่างเปล่า ปราศจากความหมาย ไร้คุณค่า สิ้นหวัง เหนื่อยล้า และไม่ยินดียินร้ายต่อความเชื่อ อุดมการณ์ คุณค่าที่เคยยึดถือ ดังนั้น มนุษย์จึงสรุปว่า ไม่มีสิ่งใดถูกต้อง ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปได้ นิทเช่ แบ่งช่วงการเปลี่ยนผ่านออกเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงแรก จากสังคมก่อนศีลธรรม-สู่ศีลธรรม (500 ปี ก่อนคริสตกาล) ช่วงที่สอง การเกิดคริสต์ศาสนา ช่วงที่สาม พระเจ้าตายแล้ว (สมัยใหม่หรือสมัยปัจจุบัน) การหาทางออกจากสุญนิยม ต้องปฏิเสธคุณค่าเดิม ประเมินคุณค่าใหม่ (revaluation of all values) และตีความ (interpretation) มีความรักในชีวิต ผู้ที่ทำเช่นนี้ได้ คือ อภิชน (superman)


เจอร์เก้น ฮาเบอร์มาส (Jurgen Habermas) นักคิดชาวเยอรมันสำนัก Frankfurt School มีทัศนะต่อ Modernity ว่าเป็นรอยต่อระหว่างความเก่ากับความใหม่ (an unfurnished project) เป็นสุนทรียทางปัญญา วัฒนธรรมสมัยใหม่และสังคมสมัยใหม่ เป็นผลสืบเนื่องมาจากยุคแห่งภูมิปัญญา แนวคิดแบบคานท์ (Kant) ที่เห็นว่าสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นภายในจิตใจของเราเองและจริยธรรมมีรากฐานอยู่บนการนับถือซึ่งกันและกันของมนุษย์ กลลวงและทางเลือกทางวัฒนธรรม ลัทธิอนุรักษ์นิยมที่เพิ่งเริ่มต้น ลัทธิอนุรักษ์นิยมแบบเก่า และลัทธิอนุรักษ์นิยมแบบใหม่
โดยสรุปตามแนวคิดของ ฮาเบอร์มาส ที่ใช้ทฤษฎีวิพากษ์ (Critical Theory) โดยใช้หลักเหตุผล ในยุคสมัยใหม่การแลกเปลี่ยนความคิดโดยเสรีและการวิพากษ์เป็นกระบวนการที่ก่อให้เกิดความรู้ ควรวิพากษ์การใช้ความเป็นเหตุเป็นผลแทนวิธีแสวงหาความรู้แบบวิทยาศาสตร์และหลักความเป็นเหตุเป็นผล (rationality) ในสังคมทุนนิยม มนุษย์ประสงค์ที่จะปลดปล่อยตัวเองจากความบิดเบือนหรือพันธนาการของการสื่อสารในระดับปัจเจก สนใจเชิงปรัชญาและการทำความเข้าใจนำไปสู่การศึกษาจิตวิเคราะห์ ภาษาจึงเป็นเรื่องของการตีความ ส่วน นิทเช่ ต้องการที่จะก้าวเลยไปจากความเป็นสมัยใหม่ เพื่อแบบฉบับของวัฒนธรรมและสังคมที่พิเศษและเหนือกว่า ซึ่งจะสร้างสรรค์ความเป็นปัจเจกให้เข้มแข็ง และมีพัฒนาการที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

เสรีภาพและอัตลักษณ์ของปัจเจกชน

ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 แนวคิดแบบเสรีนิยมและสุญนิยมในยุคสมัยใหม่นำมาซึ่งเสรีภาพและอัตลักษณ์ของปัจเจกชน เป็นจุดเริ่มต้นของศิลปินสมัยใหม่ พวกอิมเพรสชันนิสต์ (Impressionist) และ โพสต์-อิมเพรสชันนิสต์ (Post-Impressionist) ปฏิเสธการเขียนภาพเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และไม่สนใจขนบของการเขียนภาพให้เหมือนจริงที่สุด ซึ่งพัฒนามาตั้งแต่ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ “ความใหม่” คือ สิ่งที่ศิลปินสมัยใหม่ให้ความสำคัญ ทัศนคติแบบนี้จะปรากฏให้เห็นในแนวคิด “อาวองท์-การ์ด” (avant-garde) ศิลปินอาวองท์-การ์ด หรือศิลปินหัวก้าวหน้า ได้กลายเป็นพวกที่ล้ำยุคล้ำสมัยของสังคม ถึงแม้ว่าความก้าวล้ำแซงหน้าจะได้รับการยอมรับโดยทั่วไป แต่การที่ศิลปินอิสระจนหลุดพ้นไปจากกรอบของยุคสมัย ทำให้บางครั้งถูกปฏิเสธจากนักประวัติ ศาสตร์ศิลป์ ศาสนจักร รัฐ และขุนนาง ที่เคยเป็นผู้อุปถัมภ์ศิลปะในอดีตถูกลดบทบาทลงไปอย่างมาก เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ลัทธิสมัยใหม่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว เพราะศิลปินสมัยใหม่จะมีอิสระ เสรีที่จะคิดและทำศิลปะที่แตกต่างไปจากอดีต เพราะต้องทำตามความชอบของผู้ว่าจ้าง นอกจากนี้การค้าขายศิลปะตามระบบทุนนิยม ก็ยังเป็นตัวกระตุ้นให้ศิลปินทำการทดลองสิ่งที่แปลกใหม่ คำว่า “ศิลปะเพื่อศิลปะ” เริ่มแพร่หลายในต้นศตวรรษที่ 20 สามารถใช้อธิบายงานศิลป์ที่เกิดจากความคิดส่วนตัวของศิลปินที่มีความเป็นปัจเจกสูง โดยไม่ต้องการการอ้างอิงถึงประเด็นทางสังคมและศาสนา สังคมตะวันตกได้เปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบอุตสาหกรรม ความเป็นเมืองใหญ่แบบมหานคร และการเป็นสังคมแบบวัตถุนิยม ศิลปินสมัยใหม่ได้ท้าทายรสนิยมของชนชั้นกลาง โดยสรรหาเรื่องราว ประเด็นและรูปแบบใหม่ๆ ที่แปลกแตกต่างไปจากระเบียบแบบแผนดั้งเดิมมานำเสนอ งานศิลปะสมัยใหม่จะมีแนวเนื้อหาและการแสดงออกที่แตกต่างกัน เช่น แนวเนื้อหาเกี่ยวกับการเฉลิมฉลองเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ (แสดงออกในงานศิลปะแบบ Futurism และ Constructivism ในสหภาพโซเวียต) การค้นหาจิตวิญญาณ (ศิลปะแบบ Symbolism ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา) และความสนใจในศิลปะของคนป่า (Primitivism) ปรากฏชัดในงาน Cubism ของ โพสต์-อิมเพรสชันนิสม์ และ German Expressionism

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ประมาณปี ค.ศ. 1916 - 1922 ศิลปะสกุล Dada เริ่มเกิดขึ้นในเมืองซูริค สวิตเซอร์แลนด์ เป็นแนวคิดแบบ anti-arts หรือศิลปะเพื่อการต่อต้านศิลปะ กล่าวคือ ใช้ศิลปะเป็นสื่อทำให้มนุษย์ได้มองเห็นความโหดเหี้ยมทารุณ ความบ้าคลั่ง และอิทธิพลของเทคโนโลยีและเครื่องจักรกลสมัยใหม่ ศิลปินมีหน้าที่สะท้อนโลกที่ไร้เหตุผล โลกที่บ้าคลั่ง โกรธแค้น เมื่อศิลปะ Abstract หลุดพ้นจากข้อผูกพันกับธรรมชาติ สามารถดำรงอยู่และสร้างสุนทรียภาพได้ด้วยตัวเอง จึงเป็นการตอกย้ำปรัชญาสุญนิยมของ นิทเช่ ที่มองว่าไม่มีพื้นฐานสากลใดๆ สำหรับความจริง ความดี หรือความงาม


วัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดเจนในศตวรรษที่ 20 นอกจากงานศิลปะแล้ว ยังมีรายการโทรทัศน์ รูปแบบ sitcom ที่แสดงอารมณ์ขันแบบเหน็บแนมประชดประชัน ดนตรีพังก์ (punk) ในอังกฤษ วงแร็พ (gangsta rap) ตามถนน ดนตรี ป๊อบ-ร็อค (Pop-Rock) ในอเมริกา เกิดวิวัฒนาการของวัฒนธรรมดนตรี การปฏิวัติวิถีชีวิตของคนหนุ่มสาวและวัยรุ่นแบบต่างๆ ขยายไปทั่วโลก เช่น การแต่งตัว มารยาทประเพณี เพศสัมพันธ์ ค่านิยมในเรื่องครอบครัว การศึกษา และการทำงาน เกิดขบวนการฮิปปี้ การขบถต่อกรอบระเบียบแบบแผนดั้งเดิมเช่นนี้ ส่งผลให้วัฒนธรรมประชานิยมขยายตัวกว้างขวางยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น Nikki นักดนตรีฮาร์ดร็อก ชาวอเมริกัน มือเบส วง Mötley Crüe ศิลปินที่เป็นเสรีชนสุดขั้วในยุคสมัยใหม่ ที่ตัดสินใจออกจากบ้านตั้งแต่อายุ 14 ปี เพื่อค้นหาจิตวิญญาณตนเอง ชีวิตมีแต่ดนตรี เหล้า ยา และเซ็กซ์ แต่กลับประสบความสำเร็จในชีวิตการแสดงบนเวที ไม่มีใครเคยสนใจว่าชีวิตส่วนตัวของเขาจะเป็นอย่างไร และเขาได้ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตเป็นตัวหนังสือเรื่อง The Mötley House สิ่งที่เขายึดมั่นในชีวิตมีเพียงอย่างเดียว คือ กีตาร์ เขาใช้ดนตรีเป็นสื่อในการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง เช่น การถูกปฏิเสธจากพ่อว่าไม่มีลูกชาย ความรู้สึกคับแค้นถูกถ่ายทอดออกมาเป็นบทเพลงในการแสดงดนตรีคืนนั้น โดยเขาเขียนคำร้องว่า พ่อถูกเขาฆ่าตายแล้วด้วยเสียงเพลง

อาจกล่าวได้ว่า ยุคสมัยใหม่ เป็นยุคที่ปัจเจกชนโดยเฉพาะศิลปินมีเสรีภาพมาก สามารถแสดงความเป็นตัวตนได้อย่างอิสระ มีการนำเทคโนโลยีวัสดุอุปกรณ์แบบใหม่ รวมถึงเครื่องจักรกลเข้ามาใช้ในการสร้างสรรค์งานมากขึ้น การบริโภคหรือการสนับสนุนงานศิลปะไม่จำกัดอยู่ที่ ชนชั้นสูง ขุนนาง หรือผู้ร่ำรวยเท่านั้น แต่ยังตอบสนองต่อประชาชนทั่วไปอีกด้วย นอกจากนี้ ไม่เพียงแต่รูปแบบศิลปะที่หลากหลายเท่านั้น งานศิลปะรูปแบบดั้งเดิมก็ยังได้รับความนิยม และ สืบทอดต่อกันมาจนถึงสมัยปัจจุบัน ขณะเดียวกันปัจเจกชนเหล่านี้ปฏิเสธต่อการมีอยู่ของหลักความรู้และหลักความจริง ปฏิเสธเรื่องเกี่ยวกับชีวิตของวัฒนธรรมสมัยใหม่ ตามแนวคิดของ นิทเช่ ว่าด้วยเรื่องสุญนิยมหรือความว่างเปล่า (Nihilism) อย่างแท้จริง

บทส่งท้าย


ยุคสมัยใหม่ในศตวรรษที่ 19 - 20 การปฏิวัติอุตสาหกรรมได้เปลี่ยนโลกตะวันตกจากสังคมเกษตรกรรมไปสู่สังคมอุตสาหกรรมเต็มรูปแบบ ประชาชนทิ้งไร้ทิ้งนาเข้ามาสู่เมือง ทำงานในโรงงาน ขณะเดียวกันโรงงานก็พยายามเปลี่ยนจากแรงงานคนมาเป็นเทคโนโลยีแทน ระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่เกิดขึ้น เพื่อตอบสนองกับสังคมอุตสาหกรรม จนเกิดเป็นระบบทุนนิยมไปในที่สุด ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ทำให้เกิดตลาดเสรีการค้า การแลกเปลี่ยน มีนายทุนไม่กี่คนที่ได้กำไรมหาศาล ในขณะที่คนงานต้องทำงานหนักเพื่อแลกเปลี่ยนกับเงินเดือนเพียงเล็กน้อย เกิดการข่มขี่เอารัดเอาเปรียบทางชนชั้น เกิดการประท้วงและจัดตั้งเป็นขบวนการทางสังคม (Social Movement) ต่อสู้กับลัทธินายทุนและล้มล้างระบบลง การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในรอยต่อของยุคสมัยใหม่นี้ ก็คือ การเกิดคำว่า “มาตรฐาน” (Standardization) ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่สุดในการ “วัดคุณค่า” ทั้งการผลิตและการบริโภค ไม่ว่าจะเป็นการผลิตให้ได้มาตรฐาน ซึ่งหมายถึงของทุกชิ้นที่ออกมาสู่ตลาด ต้องมีคุณภาพที่ดีเหมือนกันทั้งหมด มาจากมาตรฐานเดียวกัน การได้มาซึ่งมาตรฐานย่อมหมายถึง การได้มาซึ่งชื่อเสียง เงินทอง อำนาจในการต่อรอง การได้เปรียบทางการค้า อย่างไรก็ดี การเกิดขึ้นของชนชั้นทางสังคม ก็ถูกกำหนดขึ้นจากมาตรฐานตัวเช่นเดียวกัน การสร้างภาพให้ผู้คนพยายามที่จะสามารถครอบครองความมีมาตรฐาน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สบายขึ้น เป็นการเลื่อนขั้นทางสังคมอย่างหนึ่ง ซึ่งยุคสมัยใหม่ได้สัญญาเอาไว้กับมนุษย์ ขณะเดียวกันการสร้างมาตรฐานก็กลายมาเป็นการสร้างกรอบหรือระเบียบปฏิบัติต่อสังคม เพื่อให้ดำเนินไปด้วยดีอย่างเป็นปกติ


ธีโอดอร์ อะดอร์โน (Theodor Adorno) ได้วิเคราะห์ศิลปะในสังคมทุนนิยมว่าเป็นการผลิตแบบอุตสาหกรรม ผลิตจำนวนมากเพื่อการบริโภคของคนจำนวนมาก ศิลปะแบบนี้จึงต้องมีลักษณะง่ายต่อความเข้าใจ ไม่ซับซ้อน เป็นการทำศิลปะให้เป็นสินค้าเชิงพาณิชย์ (commercialization of arts) เรียกว่า ศิลปะโหล (mass culture) ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมทางสังคม (social cement) ให้กับระบบสังคมทุนนิยมอีกทอดหนึ่ง ซึ่ง นิทเช่ ก็สนับสนุนความคิดนี้โดยประกาศว่า “No artist tolerates reality” ไม่มีศิลปินคนไหนยอมทนต่อความเป็นจริง ศิลปินไม่ได้บอกความจริง แต่ทำให้ความคิดของเขาเป็นจริงในผลงานของเขา เพราะฉะนั้นเขาไม่ต้องสนใจความจริง เพราะความจริงที่มีพื้นฐานอยู่บนความเป็นเหตุเป็นผลเป็นสิ่งที่ศิลปินไม่ยอมรับ


บรรณานุกรม

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชาทฤษฎีสังคม (สห. 826) โครงการปริญญาเอกสหวิทยาการ วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภาคการศึกษาที่ 2/2552 ซึ่ง รศ.ดร. มนตรี เจนวิทย์การ ได้พาผู้เขียนเข้าสู่โลกสมัยใหม่ ขอกราบขอบพระคุณมา ณ ที่นี้

มงคล นาฏกระสูตร. เอกสารการบรรยาย ทฤษฎีทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา. http://www.learners.in.th/file/drwattana
สุภางค์ จันทวานิช. (2552). ทฤษฎีสังคมวิทยา. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
Maurizio Passerin d’Entrèves and Seyla Benhabib. (1996). Habermas and The Unfurnished Project of Modernity. Cambridge: The MIT Press.
http://www.en.wikipedia.org/wiki/Nihilism
http://www.midnightuniv.org/datamid2002/newpage4.html
http://www.thapra.lib.su.ac.th/objects/thesis/fulltext/thapra/Chutchon_Sengma/Chapter2.pdf
http://www.utm.edu/research/iep/n/nihilism.html