วันเสาร์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2554

@ วันเด็ก


๏ วันเด็กเด็กได้อะไรบ้าง 
นอกไปจากแบบอย่างผู้ใหญ่ให้ 
นอกจากความสนุกสนานเบิกบานใจ 
นอกจากความเอาใจใส่ในวันนี้ 

๏ เด็กต้องการความรักจากทุกคน 
อยากทำตนให้ประจักษ์มีศักดิ์ศรี 
เด็กต้องการความรู้ชูชีวี 
เด็กอยากมีความสุขทุกทุกวัน
 

๏ อยากให้วันทุกวันเป็นวันเด็ก 
ดอกไม้เล็กเล็กจะเฉิดฉัน 
ความดีความงามความสำคัญ 
ใครจะปลูกใครจะปั้นลูกหลานเรา 



๏ หนึ่งครอบครัวสองสถานการศึกษา 
สามสังคมโลกาอันผ่าเหล่า 
ให้ยึดค่านิยมใหม่งมงายเงา 
คือ "ตามเขาแล้วเก่ง-คิดเองเชย" 

๏ ขอวันเด็กเด็กวอนสอนผู้ใหญ่ 
ว่าคำขวัญนั้นมิใช่คำเฉลย 
แท้คือคำถามกลับ...นับได้เลย 
ผู้ใหญ่เอ๋ย เคยดี...สักกี่คน 
.................... 

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ 
พฤ.๖/๑/๕๔

วันพุธที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2554

โครงสร้างและการตีความ

 
อัญชลิตา สุวรรณะชฎ

“Structure and Hermeneutics”[1] เป็นงานเขียนชิ้นหนึ่งในหนังสือ Conflict of Interpretation (1974) ซึ่ง Kathleen McLaughlin แปลจากต้นฉบับที่ Paul Ricoeur เสนอในการประชุมนักปรัชญานานาชาติ ที่กรุงโรม เมื่อปี ค.ศ. 1963 ในหัวข้อการตีความและประเพณี ริเกอร์ เห็นว่า การตีความมีประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของประเพณีที่ยังดำรงอยู่ เพราะประเพณีที่ตายแล้วย่อมไม่มีการตีความสืบต่อมา มรดกทางวัฒนธรรมที่สืบต่อมาไม่ใช่การส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น แต่เป็นสมบัติที่เราแบ่งปันกันคนละเล็กละน้อยและปฏิบัติให้มากเพื่อเติมเต็มให้สมบูรณ์ ประเพณีมีชีวิตอยู่ได้โดยการตีความให้งดงามและมีราคาอย่างต่อเนื่อง ริเกอร์ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับความเชื่อมโยงของ 2 สภาวะที่พร่ามัวและมีอยู่ชั่วขณะหนึ่ง (temporalities) คือ การตีความอย่างไรที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงานของประเพณี? ทำไมประเพณีมีชีวิตอยู่เพียงช่วงเวลาหนึ่งและนำไปสู่การทำงานของการตีความ? และมองหาสภาวะที่มีอยู่ชั่วคราวอย่างที่ 3 คือ ช่วงเวลาการทำงานของความหมายโดยตัวมันเอง เช่น ความหมายที่ลึกซึ้งที่ถูกจารึกในการเติมเต็มความหมาย ซึ่งควรจะทำโดยการตีความ 2 สภาวะที่มีอยู่ชั่วคราวนี้ ซึ่งช่วงเวลาของความหมายต้องฝ่าฟันกับสภาวะการส่งต่อและการทำใหม่

ริเกอร์มีสมมติฐานว่า การกล่าวถึงเวลากับการประกอบความหมาย ที่เรียกว่า “สัญลักษณ์” (symbol) ประกอบขึ้นจากมุมมองการตีความจากความหมายหนึ่งโดยความหมายของการให้ความหมายหนึ่ง ในเบื้องต้นโดยความหมายตามตัวอักษร เกี่ยวกับวิสัยโลก การให้ความหมายทางกายภาพอ้างอิงย้อนหลังโดยเปรียบเทียบ สิ่งที่เกี่ยวกับจิตใจ เกี่ยวกับการดำรงชีวิตของมนุษย์ ความหมายเกี่ยวกับปรัชญาว่าด้วยความเป็นอยู่ของมนุษย์ ซึ่งไม่มีทางที่จะระบุได้โดยตรง สัญลักษณ์จึงเชื้อเชิญให้เราตีความ ปัญหาในวันนี้ ก็คือ การวิเคราะห์เกี่ยวกับความหมายโดยดึงความหมายออกมาจากสภาวะที่พร่ามัว

การศึกษาการทำงานของสัญลักษณ์ไม่ใช่การทำงานของตำนานหรือนิยายปรัมปรา เพราะมันเป็นเพียงสิ่งที่อยู่รองลงไปภายใต้สัญลักษณ์ ประการแรก คือ ตำนานหรือนิยายปรัมปราเป็นรูปแบบของเรื่องเล่า ประการที่สอง ความสัมพันธ์ของตำนานหรือนิยายปรัมปราและความซับซ้อนของสถาบันทางสังคม มันถูกจัดไว้ในเครือข่ายทางสังคมที่ขึ้นอยู่กับหมุดหมายของสัญลักษณ์ในการละเล่น ตามความคิดของริเกอร์หน้าที่ทางสังคมของตำนานหรือนิยายปรัมปราทำให้ลดทอนการเติมเต็มความหมายของมาตรฐานสัญลักษณ์ ซึ่งกลุ่มที่แตกต่างไปจากจินตนาการที่แต่งขึ้นมาสามารถใช้ได้ในบริบททางสังคมอื่นอีก ประการสุดท้าย การจัดระเบียบความหมายตามตัวอักษรของตำนานหรือนิยายปรัมปรามีนัยยะของการเริ่มต้นของการอธิบายด้วยหลักเหตุผล ซึ่งเป็นข้อจำกัดของการแสดงอำนาจของมาตรฐานสัญลักษณ์

งานชิ้นนี้เริ่มต้นที่นักโครงสร้างนิยม ได้แก่ โคลด เลวี-สโทรส นักมานุษยวิทยาโครงสร้าง ในงานเขียนเรื่อง The Savage Mind เขาศึกษาระบบคิดของคนพื้นเมืองโบราณที่ยังไม่มีภาษา ซึ่งดูเป็นหลักการที่เหลวไหลที่ทำให้ตกหลุมพรางของเรื่องราวที่แท้จริง นักโครงสร้างนิยมต้องปฏิบัติราวกับว่าคำอธิบายหนึ่งมีข้อจำกัดและขยายออกโดยลำดับ การติดตามแนวทางของปัญหาด้วยตัวของมันเอง ซึ่งริเกอร์ขอฉวยโอกาสจังหวะของการขยายออกที่เริ่มจากแกนที่ไม่สามารถจะโต้แย้งได้



1. รูปแบบทางภาษา

เริ่มจากความคิดของ เฟอร์ดินันด์ เดอ โซซูร์ และหนังสือเล่มเล็กๆ ของเขาที่มีชื่อว่า Course in General Linguistics และการแนะแนวทางศึกษาเกี่ยวกับหน่วยพื้นฐานของเสียงของ Trubetskov ประการแรก แยกภาษาพูดออกจากระบบ เนื่องจากภาษานำแสดงตัวเองเช่นเดียวกับระบบสัญญะ (signs) โซซูร์เห็นว่าภาษาที่เกิดขึ้นในเวลาเดียวกันเป็นความสัมพันธ์ระหว่างส่วนประกอบเรื่องราวที่เกิดขึ้นพร้อมกัน ประการสุดท้าย ถึงแม้ว่ามันเข้าใจได้ในระบบ นั่นก็โดยการรับจากกฎเกณฑ์ที่เห็นอยู่เป็นประจำ

ริเกอร์ไม่ได้ต้องการวิพากษ์โครงสร้างนิยม แต่เสนอกฎของภาษาที่แสดงถึงระดับที่ไร้จิตสำนึกชั่วขณะและความรู้สึกที่ไม่กระทบ ไม่เกี่ยวข้องกับความเป็นมาของจิต ไม่ใช่การทำความเข้าใจวงจรการตีความ (hermeneutic circle) ไม่มีค่าทางประวัติศาสตร์ที่แท้จริง ความสัมพันธ์เป็นอัตวิสัยไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้สังเกต นี่คือเหตุผลว่าทำไมมานุษยวิทยาโครงสร้างจึงเป็นศาสตร์ไม่ใช่ปรัชญา


2. การสับเปลี่ยนตำแหน่งหน้าที่กันของรูปแบบภาษาในมานุษยวิทยาเชิงโครงสร้าง

ระบบเครือญาติของ เลวี-สโทรส กับระบบหน่วยพื้นฐานของเสียงสถาปนาขึ้นที่ระดับที่จิตไร้สำนึกชั่วขณะ มันเป็นมากกว่าระบบที่เป็นคู่ตรงข้ามและลำดับชั้นในการให้ความหมายแต่เพียงอย่างเดียว (พ่อ-ลูกชาย, แม่ยายและลูกสะใภ้, สามี-ภรรยา พี่ชาย-น้องสาว) นี่เป็นระบบซึ่งทั้งหมดมาจากมุมมองที่เกี่ยวข้องกับภาษาที่เกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน เป็นระบบประกอบสร้างที่ปราศจากความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ ถึงแม้จะมีมุมมองทางโครงสร้างที่เกี่ยวเนื่องกับการสืบสายเครือญาติ ระบบเครือญาติจึงเป็นภาษาอย่างหนึ่ง แต่ไม่ใช่ภาษาสากล เป็นความคิดเกี่ยวกับรหัสซึ่งต้องมีการทำความเข้าใจระหว่างความรู้สึกที่สื่อสารกันอย่างเป็นทางการระหว่างโครงสร้างเฉพาะและความรู้สึกของโครงสร้างการสืบต่อกัน นี่คือการทำความเข้าใจหน้าที่เชิงสัญลักษณ์ที่ไม่สามารถพูดได้ว่าขึ้นอยู่กับผู้ปฏิบัติตาม

ปัญหาของริเกอร์ก็คือ อะไรที่มาแทนที่ทฤษฎีทั่วไปของความสัมพันธ์ในความหมายของทฤษฎีทั่วไป? ในเรื่องของศิลปและศาสนา อะไรทำให้คนเข้าใจเมื่อคนหนึ่งเข้าใจโครงสร้าง? และการทำความเข้าใจโครงสร้างอย่างไรที่สร้างความเข้าใจการตีความที่นำไปสู่เป้าหมายที่บ่งชี้ไว้? เราควรทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างวิวัฒนาการของภาษาและเหตุการณ์และความเคลื่อนไหวตามลำดับเวลา


3. The Savage Mind[2]

เลวี-สโทรส ศึกษาระบบคิดของคนพื้นเมืองโบราณที่ยังไม่มีภาษา โดยใช้วิธีการหาความรู้แบบโครงสร้างนิยม เพื่อศึกษาระบบคิดของมนุษย์ โดยเสนอข้อถกเถียงว่า สรรพสิ่งต่างๆ ที่ดำรงอยู่ต่างต้องมีโครงสร้างชุดหนึ่งกำกับให้เป็นอย่างที่เป็นอยู่ มิฉะนั้นก็ไม่อาจดำรงอยู่อย่างที่เป็นอยู่ได้ รวมทั้งวิธีคิด “โครงสร้าง” ในความหมายของ เลวี-สโทรส คือ ระบบของความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยง ร้อยรัด หรือตรึงสรรพสิ่งให้อยู่ด้วยกันอย่างที่เป็นอยู่ ความหมายของการกระทำ ของปรากฏการณ์ ของเหตุการณ์ต่างๆ จึงไม่ได้ดำรงอยู่ที่ตัวสิ่งเหล่านี้ แต่อยู่ที่โครงสร้างที่เป็นตัวกำหนดความสัมพันธ์ของสิ่งเหล่านี้กับสิ่งอื่นๆ ภายใต้ระบบเดียวกัน[3] วิธีการหาความรู้แบบโครงสร้างนิยม เป็นการศึกษาเพื่อหาความหมายในระดับลึกของจิตไร้สำนึกที่ซึมลึกอยู่ในระบบคิด ระบบการรับรู้ของเรา ลึกจนถึงขนาดที่ลากองเห็นว่าเป็นระดับที่เราไม่สามารถสื่อสาร พูดคุยกับจิตไร้สำนึกของตัวเราเองได้เลย เพราะจิตไร้สำนึกทำงานแบบเดียวกับระบบของภาษา ซึ่งเราไม่เข้าใจแต่ก็สามารถใช้ภาษาได้ นั่นคือ สิ่งที่ เลวี-สโทรส ศึกษา ได้แก่ วัฒนธรรม พิธีกรรม และระบบคิดของคนพื้นเมืองโบราณในฐานะภาษาแบบหนึ่ง[4]


4. ขีดจำกัดของทฤษฎีโครงสร้าง?
 
ความแตกต่างที่สำคัญประการหนึ่งระหว่างโครงสร้างนิยมกับการตีความ คือ โครงสร้างนิยมไม่เชื่อในเรื่องการตีความ แต่มองว่าความหมายเป็นเรื่องของโครงสร้าง ระเบียบ กฎเกณฑ์ หรือรหัสชุดหนึ่งที่ทำให้เกิดความหมายอย่างที่เป็นอยู่ ริเกอร์ต้องการเปิดเผยให้เห็นว่าเครื่องมือที่จะทำความเข้าใจจิตไร้สำนึก คือ การตีความ ซึ่งการพูดเป็นอัตวิสัยหนึ่งที่สามารถนำไปสู่การทำความเข้าใจอย่างที่เป็นอยู่ สิ่งที่เป็นอยู่ และตัวของเขาเอง


5. การตีความและมานุษยวิทยาเชิงโครงสร้าง


ริเกอร์ ได้สรุปความแตกต่างของโครงสร้างนิยมกับการตีความ ดังนี้

โครงสร้างนิยม
การตีความ
1.  ดำเนินอยู่ด้วยระบบจิตไร้สำนึก ซึ่ง
2.  ทำงานอย่างต่อเนื่องโดยความแตกต่างและการต่อต้าน
3.  อย่างเป็นอิสระของผู้ปฏิบัติ

1.  ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกที่ครอบงำ
2.  เป็นสัญลักษณ์ที่มีอิทธิพลเกินกว่าพื้นฐานของจิตสำนึก โดย
3.  ผู้แปลความ ซึ่งแสดงทัศนคติต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งด้วยตัวของเขาเอง เช่นเดียวกับความหมายของคำและประโยคในทางภาษาศาสตร์ เสมือนหนึ่งเขากำลังเข้าใจดังนั้น เขาจึงเข้าสู่วงจรของการตีความ



เชิงอรรถ

[1] Kathleen McLaughlin. (1974). “Structure and Hermeneutics” Conflict of Interpretation. pp. 27-61.

[2] Claude Levi-Strauss. (1962). The Savage Mind. USA: University of Chicago Press.

[3] ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร. (2545). สัญวิทยา. โครงสร้างนิยม. หลังโครงสร้างนิยม กับการศึกษารัฐศาสตร์. กรุงเทพฯ: วิภาษา. น. 44-45.

[4] ใน “The Savage Mind” Levi-Strauss กล่าวถึง Boas โดยเปรียบเทียบนิยามของคำกริยา “bricoler” ว่า ความหมายของมันในความหมายของคำแบบเก่า คือ คำกริยาที่ถูกนำมาใช้ในการเล่นลูกบอล หมายถึง การกระดอนกลับของลูกเทนนิสเมื่อตีเข้ากำแพง หรือการเล่นบิลเลียดที่ลูกขาวเด้งไปชนขอบโต๊ะแล้วกระดอนมาชนอีกลูกหนึ่ง มันเป็นการโจมตีทางอ้อม ปัจจุบัน “bricoleur” หมายถึง คนที่ทำงานด้วยมือและใช้ในความหมายเปรียบเทียบกับช่างฝีมือ ที่ต้องอุปมาเพราะคำนี้ไม่มีคำแปลในภาษาอังกฤษและใช้ในคำภาษาฝรั่งเศส

มัสยิดกับชีวิตประจำวัน

อัญชลิตา สุวรรณะชฎ

 

“มัสยิด” ตามนิยามความหมายของพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 มีความหมายว่า สถานที่ซึ่งมุสลิมใช้ประกอบศาสนกิจโดยจะต้องมีละหมาดวันศุกร์เป็นปกติ และเป็นสถานที่สอนศาสนาอิสลาม หรือ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 “มัสยิด” หมายถึง สถานที่ก้มกราบเคารพภักดีแด่อัลลอฮฺ สอดคล้องตามความหมายในคัมภีร์อัลกุรอานที่บัญญัติว่า “ศาสนสถานทั้งหลายที่ใช้เคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ เป็นของอัลลอฮฺ และจงอย่าวิงวอนผู้ใดเคียงคู่กับอัลลอฮฺ” (อัลกุรอาน 72: 18) “มัสยิด” จึงไม่ใช่เป็นเพียงศาสนสถาน หรือสถานที่ประกอบศาสนกิจของชาวมุสลิมเท่านั้น แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของชาวมุสลิม และเป็นศูนย์กลางในการยึดโยงวิถีชิวิต ศรัทธา ความเชื่อ วัฒนธรรม และความเป็นปึกแผ่นของชุมชนมุสลิม ดังความเชื่อที่ว่า “ชุมชน มัสยิด และสุสาน” เป็นเรือนร่างเดียวกัน มัสยิดทุกแห่งในโลกเปรียบเสมือน “บ้านของอัลลอยฮฺ”

“มัสยิดต้นสน” เป็นมัสยิดที่มีความสำคัญยิ่งแห่งหนึ่งในบรรดามัสยิดต่างๆ ในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับชาวมุสลิมในกรุงเทพมหานคร และเป็นมัสยิดที่เก่าแก่ที่สุดของกรุงเทพมหานคร สร้างมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาและดำรงความสำคัญในฐานะศูนย์กลางชุมชนมุสลิมในเขตคลองบางกอกใหญ่ยาวนานกว่า 400 ปี โดยมัสยิดแห่งนี้เป็นสถานที่ที่สะท้อนวิถีชีวิต สังคม วัฒนธรรมความเชื่อ เป็นศูนย์รวมจิตใจและเป็นสัญลักษณ์ของชุมชนมุสลิม ทำหน้าที่ยึดโยงความดำรงอยู่ของชุมชนให้มั่นคง ดังที่ชาวมุสลิมที่มัสยิดต้นสน หรือ “ชาวต้นสน” กล่าวว่า “ชีวิตของมุสลิมย่อมผูกพันอยู่กับมัสยิด เพราะมัสยิดมีความสำคัญต่อชีวิตมุสลิมเป็นเอนกนับตั้งแต่เกิดมาจนถึงบั้นปลายของชีวิต ดังนั้น มัสยิดจึงเป็นสัญลักษณ์ของอิสลาม มีมัสยิดอยู่ที่ใด ก็ต้องเข้าใจว่ามีมุสลิมอยู่ ณ ที่นั้น” (ชาวต้นสน 2518: 1) จนกระทั่งประมาณปี พ.ศ. 2546 กรุงเทพมหานครได้เวนคืนที่ดินบริเวณมัสยิดต้นสน เพื่อก่อสร้างสะพานอนุทินสวัสดิ์และตัดถนนอรุณอัมรินทร์ตัดใหม่ ตามแผนพัฒนากรุงเทพมหานครสู่เมืองน่าอยู่ ทำให้ชาวมุสลิมจำนวนหลายร้อยครอบครัวที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ต้องอพยพออกไป จนในปัจจุบันเหลือเพียง 6 ครอบครัว

จากการศึกษาภาคสนามของผู้วิจัย ในเบื้องต้นพบว่า แม้ลักษณะการตั้งถิ่นฐานของชุมชนมุสลิมแบบดั้งเดิมถูกทำลายไป แต่ยังมีมุสลิมจำนวนมากที่เรียกตัวเองว่าเป็น “ชาวต้นสน” และดำรงความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับ “มัสยิดต้นสน” ถึงแม้จะมิได้พักอาศัยอยู่ในพื้นที่รอบมัสยิดก็ตาม สภาพการณ์ดังกล่าว จึงทำให้ผู้วิจัยสนใจศึกษาบทบาทหน้าที่ของมัสยิดต้นสนที่มีต่อชาวต้นสน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทหน้าที่ทางสังคม

เปิดพื้นที่มัสยิดต้นสน

“มัสยิดต้นสน” ตั้งอยู่บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร “มัสยิด” หันหน้าไปทางคลองบางกอกใหญ่ ด้านตะวันออกอยู่ติดกับวัดหงส์รัตนาราม มีคลองวัดหงส์รัตนารามกั้น คลองวัดหงส์รัตนารามเป็นคลองขุดสมัยกรุงธนบุรี เพื่อแบ่งพื้นที่ชุมชนต่างๆ ให้เป็นที่ชัดเจน ต่อมา น.ต. พระลักษมณา (หล่า ชลายนเดชะ) สร้างสะพานรบีอุสซานี ข้ามคลองวัดหงส์รัตนารามขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2471 เพื่อใช้เป็นทางสัญจรของผู้คนในชุมชนโดยรอบ ด้านตะวันตกติดกับวัดท้ายตลาดหรือวัดโมลีโลกยาราม โดยมีแนวคูเมืองเดิมสมัยกรุงธนบุรีกั้น

พื้นที่บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ในอดีตนั้น มีกลุ่มชนต่างชาติกลุ่มหนึ่งที่มีวัฒนธรรม และจารีตประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ ได้ก่อร่างสร้างชุมชนมาพร้อมๆ กับการตั้งเมืองบางกอก และดำรงวัฒนธรรมกลุ่มชนของตนสืบต่อมาจวบจนปัจจุบัน สันนิษฐานว่าแต่แรกน่าจะเป็นการรวมตัวของมุสลิมเชื้อสายจามที่เข้ามาเป็นกองอาสาต่างชาติในสมัยสมเด็จพระชัยราชาธิราช (พ.ศ. 2077-2111) ซึ่งเป็นช่วงของการเกณฑ์แรงงานอาสาต่างชาติเพื่อการศึกสงครามและบูรณะประเทศ โดยเฉพาะการขุดคลองลัดบางกอกในปี พ.ศ. 2085 เพื่อเชื่อมระหว่างคลองบางกอกน้อยและคลองบางกอกใหญ่ จึงทำให้มีชุมชนมุสลิมอยู่ในบริเวณท้ายป้อมเมืองบางกอกหรือป้อมวิชัยประสิทธิ์ในปัจจุบัน ชุมชนแห่งนี้จึงมีประวัติศาสตร์อันยาวนานร่วม 400 ปี เรียกกันว่า “ชุมชนบางกอก”

ชาวต้นสนในอดีตและปัจจุบัน

หลังจากกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าในพุทธศักราช 2310 ความเสียหายที่เกิดขึ้นเกินกว่าจะบูรณะกลับคืนดังเดิม สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา “กรุงธนบุรี” ขึ้นเป็นเมืองหลวงศูนย์กลางการปกครอง สถานที่ตั้งพระราชวังอยู่บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ใกล้ป้อมวิชัยประสิทธิ์ ทำให้ชุมชนมัสยิดต้นสนอยู่ไม่ห่างจากพระราชวังนัก เปรียบเสมือนมัสยิดต้นสนตั้งอยู่ในเขตศูนย์กลางของราชธานีแห่งใหม่ จึงมีประชาชนโดยเฉพาะชาวมุสลิมอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในบริเวณมัสยิดเพิ่มขึ้น ชุมชนมัสยิดต้นสนในขณะนั้นจึงคลาคล่ำไปด้วยผู้คน มีการประดับโคมไฟในบริเวณมัสยิดและตามทางเดิน มีร้านค้าขายอาหารและขนม ตั้งเรียงรายจากหน้าวัดหงส์รัตนารามถึงวัดโมลีโลกยาราม ทำให้พื้นที่ของอาคารมัสยิดไม่สามารถรองรับจำนวนคนที่ทำการสักการะพระผู้เป็นเจ้า (นมาซ) จึงจำเป็นต้องขยายพื้นที่ของมัสยิดออกไป

ชุมชนมุสลิมที่อาศัยอยู่ในบริเวณมัสยิดต้นสนนั้นนิยมอยู่ตามเรือนแพ ซึ่งมีลักษณะเป็นเรือนไทยหนึ่งหรือสองหลังปลูกซ้อนกันเรียงรายไปตามสองฝั่งคลอง นับตั้งแต่บริเวณหน้าวัดโมลีโลกยารามไปจนถึงบริเวณหน้าวัดหงส์รัตนารามและฝั่งตรงข้าม ชาวแขกแพเหล่านั้นมีอาชีพค้าขายเป็นหลัก ขายสินค้าในเรือนแพของตน โดยมีผู้ซื้อพายเรือมาซื้อของที่เรือนแพ และใช้เรือพายไปขายสินค้าตามชุมชนต่าง ๆ อาทิ ลูกผักชี ยี่หร่า ลูกกะวาน กานพลู ผ้าแพรพรรณ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผ้าที่มาจากประเทศอินเดียและถ้วยโถโอชามต่าง ๆ (ภัทระ คาน 2550: 132)

จนกระทั่งประมาณปี พ.ศ. 2546 กรุงเทพมหานครได้เวนคืนที่ดินบริเวณมัสยิดต้นสน เพื่อก่อสร้างสะพานอนุทินสวัสดิ์และตัดถนนอรุณอัมรินทร์ตัดใหม่ ตามแผนพัฒนากรุงเทพมหานครสู่เมืองน่าอยู่ ทำให้ชาวมุสลิมจำนวนหลายร้อยครอบครัวที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ต้องอพยพออกไป ปัจจุบันมุสลิมทุกคนที่เข้ามาใช้สถานที่มัสยิดต้นสนในการละหมาดหรือทำกิจกรรมอื่นๆ ที่มัสยิดแห่งนี้ จะเรียกตัวเองว่า “ชาวต้นสน” เพื่อดำรงความเป็นชุมชนมุสลิมแห่งนี้ไว้ ด้วยความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ของพื้นที่มัสยิดต้นสนและเชื้อสายบรรพชนมุสลิมที่สืบทอดกันมา

“ชาวต้นสน” ในปัจจุบันจึงหมายถึงชาวมุสลิมทุกคนที่เข้ามาละหมาดที่มัสยิดต้นสน ไม่ได้นับเฉพาะชาวไทยมุสลิมที่อาศัยอยู่ในบริเวณมัสยิดต้นสนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงอิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น สัปปุรุษ และลูกหลานบรรพชนมุสลิมที่ฝังร่างไว้ที่กุบูรมัสยิดต้นสน ตลอดจนครู นักเรียน ที่ศูนย์อบรมศาสนาอิสลามและจริยธรรมมัสยิดต้นสน และชาวมุสลิมที่ทำงานอยู่ในบริเวณใกล้เคียง (กองทัพเรือในพระราชวังเดิม) ที่เข้ามาละหมาดที่มัสยิดต้นสนเป็นประจำทุกวัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าราชการทหารเรือ ที่ทำงานอยู่ที่กรมอู่ทหารเรือ ฐานทัพเรือกรุงเทพฯ กรมสารวัตรทหารเรือ ฯลฯ

ข้อมูลข้างต้น คือ ข้อมูลที่ผู้วิจัยได้จากการศึกษาบันทึกและเอกสารซึ่งยืนยันถึงความเจริญรุ่งเรืองของชุมชนมุสลิมมัสยิดต้นสนในฐานะที่เป็นศูนย์กลางของชุมชนมุสลิมที่สำคัญแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันบันทึกหรือข้อมูลประวัติศาสตร์ของชุมชนมัสยิดต้นสนขาดตอนไป ส่วนสำคัญหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ชุมชนมุสลิมมัสยิดต้นสนได้รับผลกระทบอย่างยิ่งจากนโยบายการพัฒนาของรัฐตามระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่ใช้หลักการภูมิเศรษฐศาสตร์และสถาปัตยกรรมผังเมือง ที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตประจำวันและวัฒนธรรมของผู้คนในพื้นที่แห่งนี้ การพัฒนาตามแนวทางของรัฐทำให้พื้นที่อยู่อาศัยแปรสภาพไปโดยการเวนคืนที่ดิน เพื่อสร้างสะพานและถนนตัดใหม่

มัสยิดกับชีวิตประจำวัน

นอกจากการทำหน้าที่ตามบทบัญญัติทางศาสนาแล้ว มัสยิดต้นสนยังมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของชาวต้นสนตั้งแต่เกิดจนตาย เนื่องจากศาสดามุฮัมหมัดได้วางแบบอย่างการปฏิบัติของมุสลิมไว้ในโอกาสต่างๆ เช่น เด็กเกิด ชายหญิงแต่งงานกัน คนตาย ฯลฯ ทำให้เกิดค่านิยมของมุสลิมที่จะอาศัยมัสยิดในการดำเนินกิจกรรมเหล่านั้นเพื่อป้องกันความผิดพลาด แม้ว่าตามบัญญัติศาสนาแล้ว สามารถทำด้วยตนเองได้ก็ตาม

จุดเริ่มต้นของชีวิต การได้ทารกไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ถือเป็นความโปรดปรานของพระเจ้า ดังนั้น มุสลิมจะต้องขอบคุณอัลลอฮฺที่ได้ประทานของขวัญอันทรงคุณค่าให้และมุสลิมมีหน้าที่จะต้องดูแลรักษาของขวัญที่มีชีวิตนี้ให้ดีที่สุด การปฏิบัติต่อบุตรแรกเกิด จึงเป็นพิธีกรรมแรกของชีวิตที่เริ่มต้นการผูกพันกับมัสยิด และเพื่อเป็นการแสดงออกถึงความยินดีที่ได้ของขวัญนั้น ตามที่ท่านนะบีห์มุฮัมหมัดได้วางแบบอย่างการปฏิบัติไว้

การปฏิบัติต่อบุตรแรกเกิด โดยกล่าวขอบคุณอัลลอฮฺ กล่าวคำอะซาน การพามาที่มัสยิด เพื่อทำอะกีเก๊าะฮฺ และให้อิหม่ามตั้งชื่อมุสลิมให้นั้น เป็นประเพณีที่ดีงามของชาวไทยมุสลิมที่สืบทอดมาแต่โบราณตามคติชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่นที่ยึดถือปฏิบัติสืบเป็นประเพณีที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน แต่เป็นสัจธรรมหรือธรรมนูญแห่งชีวิตตามหลักการศาสนาอิสลาม (ประพนธ์ เรืองณรงค์ 2527: 1-2) แม้ประเพณีบางอย่างอาจได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์หรือศาสนาพุทธ เช่น การโกนผมไฟ ที่เคยมีปรากฏ จึงเป็นหน้าที่หนึ่งของมัสยิดที่จะต้องเป็นสถานที่สำคัญในการสืบทอดประเพณีตามคติชาวบ้านไว้

รากฐานของสังคม อิสลามถือว่าการแต่งงาน (นิก๊าฮฺ) เป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตครอบครัว ซึ่งเป็นรากฐานของสังคมและอารยธรรมที่มนุษย์จะต้องสร้างและดำรงรักษา ดังนั้น อิสลามจึงให้ความสำคัญกับเรื่องครอบครัวเป็นอย่างมากและวางมาตรการต่างๆ เพื่อรักษาชีวิตครอบครัวให้มั่นคงยาวนานมากที่สุด ก่อนเข้าสู่พิธีแต่งงานมีเงื่อนไขสำคัญที่จะต้องปฏิบัติให้ครบถ้วนเสียก่อน

พิธีการแต่งงานในอิสลามเป็นไปอย่างเรียบง่ายตามหลักการอิสลาม การทำพิธีที่มัสยิดเป็นสิ่งที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยท่านศาสดา แต่ไม่ได้เป็นข้อบัญญัติว่าต้องทำที่มัสยิด โดยปกติพิธีจะเริ่มต้นด้วยการอ่านพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าจากคัมภีร์อัลกุรอาน เพื่อความจำเริญของพิธีแต่งงาน ต่อจากนั้นจะมีการกล่าวคำเทศนา เพื่อเป็นการให้คำแนะนำในการดำเนินชีวิตแก่คู่บ่าวสาว ขณะดียวกันก็เป็นการตักเตือนและให้ข้อคิดแก่ผู้มาร่วมงาน หลังจากนั้นเป็นการกล่าวคำเสนอและคำตอบรับ จึงเป็นอันเสร็จพิธี

ในปัจจุบันการทำพิธีแต่งงานของชาวมุสลิมที่มัสยิดคงเป็นเรื่องของความสะดวกในการใช้สถานที่มัสยิดทำพิธีและจัดงานเลี้ยงฉลองตามแต่ละท้องถิ่น เช่น ชาวไทยมุสลิมในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เจ้าบ่าวและผู้ใหญ่จะมาทำพิธีที่บ้านเจ้าสาว เมื่อเจ้าสาวยินยอมแต่งงานแล้ว บิดาเจ้าสาวจะมอบภารกิจการแต่งงาน (วอแก) ให้อิหม่าม เมื่ออิหม่ามรับวอแกแล้ว จะเรียกเจ้าบ่าวเจ้าสาว และพยาน 2 คน พร้อมด้วยผู้จดบันทึกหลัก แล้วจึงมีการเลี้ยงอาหารในตอนค่ำ (ประพนธ์ เรืองณรงค์ 2527: 26-27) ขั้นตอนรับวอแกนี้ดูเหมือนอิหม่ามจะทำหน้าที่เช่นเดียวกับนายอำเภอทำการจดทะเบียนสมรสให้คู่บ่าวสาว

สำหรับชาวต้นสนนิยมมาทำพิธีและจัดงานเลี้ยงฉลองที่มัสยิด เพราะสามารถใช้อาคารเอนกประสงค์เป็นสถานที่จัดงานเลี้ยงได้อย่างสะดวกสบาย ขณะเดียวกันยังเป็นสถานที่ทำงานของอิหม่ามที่เกี่ยวกับงานประเพณีนิยมต่างๆ ของชาวต้นสนในเรื่องเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตตามวิถีชีวิตประจำวันตั้งแต่เกิดจนตาย ทำให้เห็นว่ามัสยิดต้นสนได้ทำหน้าที่เชื่อมโยงทั้งพิธีกรรมทางศาสนา ศรัทธา และคติความเชื่อของสังคมมุสลิมไว้อย่างแน่นแฟ้น สร้างความเป็นปึกแผ่นมั่นคงให้กับสังคมมุสลิมแห่งนี้

สถานที่เดินทางกลับสู่พระเจ้า ตามความเชื่อของมุสลิม การตายคือการกลับไปสู่พระเจ้า จึงไม่ใช่เรื่องเศร้าโศก แต่เป็นการเดินทางกลับไปหาพระเจ้าเพื่อรอการประทานชีวิตใหม่อีกครั้ง ตามบาปบุญหรือความชั่วความดีที่สะสมไว้ในขณะที่มีชีวิตอยู่ เมื่อได้รับข่าวการตายหรือมีการตายเกิดขึ้นหรือได้รับเคราะห์กรรม มุสลิมจะไม่ส่งเสียงร้องไห้คร่ำครวญหรือตีโพยตีพาย แต่จะต้องยอมรับความจริงด้วยความสงบและกล่าวว่า “อินนาลิลลาฮิวะอินนาอิลัยฮิรอญิอูน” (แท้จริง เราเป็นของอัลลอฮฺ และยังพระองค์ที่เราต้องกลับไป) เพราะอัลลอฮฺทรงกล่าวว่า “ทุกชีวิตจะต้องได้ลิ้มรสความตาย” ท่านนะบีห์มุฮัมหมัดได้กล่าวว่า เมื่อมนุษย์จบชีวิตลงบนโลกนี้ การงานของเขาเป็นอันสิ้นสุดลง มีเพียง 3 สิ่งที่ติดตัวเขาไป นั่นคือ ศาสนกิจที่เขาทำไว้ วิทยาทานและกุศลทานที่เขาจะได้รับผลบุญอย่างต่อเนื่อง และลูกที่ดีขอพรให้ ชาวมุสลิมทั้งหลาย โดยเฉพาะชายชาวมุสลิม จึงให้ความสำคัญกับการละหมาดที่มัสยิดวันละ 5 เวลา และการละหมาดประจำวันศุกร์ ทั้งนี้ เพื่อให้อัลลอฮฺโปรดปรานเมื่อเขาจากโลกนี้แล้วกลับคืนไปสู่อัลลอฮฺ

ดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าชีวิตประจำวันของชาวมุสลิมมีความเกี่ยวพันกับมัสยิดตั้งแต่เกิดจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต การปฏิบัติต่อเด็กแรกเกิด และการตั้งชื่อมุสลิม เป็นประเพณีที่ดีงามของชาวไทยมุสลิมที่สืบทอดมา หรือแม้แต่ประเพณีการโกนผมไฟที่ไม่ได้มาจากบทบัญญัติของอิสลาม แต่ถือเป็นหน้าที่หนึ่งในการสืบทอดประเพณีตามคติชาวบ้าน เช่นเดียวกับพิธีการแต่งงานที่มัสยิด ก็ไม่ได้เป็นข้อบัญญัติของอิสลาม หากแต่เป็นสิ่งที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยท่านศาสดามุฮัมหมัด มัสยิดก็อำนวยความสะดวกในการทำพิธี เป็นพยาน บันทึกการสมรส ตลอดจนให้ใช้เป็นสถานที่จัดงานเลี้ยงฉลองแต่งงาน การใช้มัสยิดต้นสนตามประเพณีนิยมต่างๆ ของชาวต้นสน ทำให้มัสยิดต้นสนเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงทั้งพิธีกรรมทางศาสนาและชีวิตประจำวันของชาวมุสลิมจำนวนไม่น้อยไว้ด้วยกัน เกิดเป็นความผูกพันอย่างแน่นแฟ้น มีการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของมัสยิดเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง อันนับได้ว่าเป็นการสร้างความเป็นปึกแผ่นมั่นคงให้กับสังคมมุสลิมแห่งนี้

อ้างอิง

บทความนี้ เป็นส่วนหนึ่งจากรายงานวิชาวิจัยภาคสนาม (สห. 844) โครงการปริญญาเอกสหวิทยาการ วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภาคการศึกษาที่ 2/2552 ซึ่งเพื่อนๆ นักศึกษาสหวิทยาการการ รุ่นที่ 8 ได้ช่วยวิพากษ์วิจารณ์จนงานชิ้นนี้สำเร็จลงด้วยดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเอื้อเฟื้อของ "มัสยิดต้นสน" และ "ชาวต้นสน" ที่ผู้เขียนต้องขอขอบคุณไว้ ณ โอกาสนี้

ชาวต้นสน. (2518). การสร้างมัสยิด, ประวัติมัสยิดต้นสน. กรุงเทพฯ: ไชยวัฒน์.

ภัทระ คาน. (2550). วันวาร 3 สมัย ณ มัสยิดต้นสน, วารสารอักษรศาสตร์ ปีที 36 ฉบับที่ 1 มกราคม - มิถุนายน 2550. น. 129-132.

ประพนธ์ เรืองณรงค์. (2527). สมบัติไทยมุสลิมภาคใต้: การศึกษาคติชาวบ้านไทยมุสลิม จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส. ปัตตานี: คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
 
http://tpir53.blogspot.com/2010/12/blog-post_28.html

Break the overnight fast: Breakfast

หยุดการอดอาหารที่ผ่านมาทั้งคืน: อาหารเช้า


อาหารเช้าเป็นการเติมพลังงานแห่งการเริ่มต้นในวันใหม่ อาหารเช้าจึงถือเป็นอาหารมื้อสำคัญที่สุด เพราะเมื่อตื่นนอนเช้าระดับน้ำตาลในเลือดจะต่ำ ทำให้ไม่มีพลังงานไปเลี้ยงสมอง การละเลยอาหารเช้าจะทำให้หงุดหงิด อารมณ์เสีย เครียด อ่อนเพลีย ไม่มีสมาธิ ดังนั้น การอดอาหารเช้าทำให้มีผลเสียต่อการเรียนรู้และความจำ อาหารเช้าที่เหมาะสมควรมีพลังงานและสารอาหารอย่างน้อย 1 ใน 4 ของปริมาณที่ควรได้รับทั้งวัน

ผลการศึกษาของ The Asian Food Information Center ร่วมกับมหาวิทยาลัย 4 แห่งในภูมิภาคเอเชีย พบว่า เด็กที่กินอาหารเช้าเรียนดีกว่าเด็กอดมื้อเช้า เพราะได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนมากกว่า ทำให้มีการเรียนรู้และความตั้งใจเรียนที่ดีกว่า เพราะเด็กที่อดมื้อเช้าจะเกิดความเครียดที่มีผลต่อการทำงานของสมองโดยตรง และฮอร์โมนคอร์ติซอลทำให้มีความต้องการน้ำตาลทั้งวัน และเด็กที่กินอาหารเช้าทุกวันมีโอกาสน้ำหนักเกินและเป็นโรคอ้วนน้อยกว่าเด็กอดมื้อเช้า เนื่องจากสามารถควบคุมความหิวในมื้อถัดไปได้ดีกว่า

ที่มา: รศ.ดร. ประไพศรี ศิริจักรวาล และคณะ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล. (2554). นักโภชนาการเป็นห่วงเด็กกรุงเมินอาหารมื้อเช้าที่สำคัญต่อสมอง, นสพ.ไทยรัฐ ฉบับที่ 19343 วันที่ 6 มกราคม 2554. น. 24.