วันศุกร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ว่าด้วยทฤษฎีเมือง (ภาค 1)

อัญชลิตา สุวรรณะชฎ[1]

                ปัจจุบันการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมของเมืองใหญ่หรือมหานครเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นประเด็นข้อถกเถียงทางทฤษฎีระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านวางผังเมืองกับผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมเมืองในตะวันตกอย่างกว้างขวาง ทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะปัญหาการจัดการเรื่องที่อยู่อาศัยของคนกลุ่มน้อยที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม ที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามาตั้งรกรากอยู่ในเมืองใหญ่หรือมหานครต่างๆ ในสหรัฐอเมริกามีปัญหาที่อยู่อาศัยของคนกลุ่มน้อยในเมืองใหญ่ต่างๆ ทั้งในนิวยอร์ก ลอสแองเจลิส นิวออลีน หลุยเซียน่า ซีแอตเติล และวอชิงตัน
การศึกษาผ่านกรอบคิดทฤษฎีเมือง (Urban Theory) มี 4 แนวทางหลัก ได้แก่ ทฤษฎีความขัดแย้งของเมือง (Urban Conflict Theory) ทฤษฎีนิเวศวิทยาเมือง (Urban Ecology Theory) ทฤษฎีความยุ่งเหยิงของเมือง (Urban Anomie Theory) และทฤษฎีวัฒนธรรมเมือง (Urban Culturalist Theory) ดังต่อไปนี้

ทฤษฎีความขัดแย้งของเมือง (Urban Conflict Theory)

ทฤษฎีความขัดแย้งของเมือง เป็นทฤษฎีที่มีพื้นฐานสำคัญมาจากแนวคิดของเฟรดเดอริก เองเกลส์ (Friedrich Engels) และ คาร์ล มาร์กซ (Karl Marx) ในเรื่องอำนาจที่ไม่ได้สัดส่วนกัน (disproportionate power) ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างชนชั้นในสังคม (ชนชั้นแรงงาน ชนชั้นกลาง และชนชั้นสูง) ชนชั้นแรงงานรู้สึกว่าการทำงานของพวกเขาทำให้เกิดความมั่งคั่งแก่ชนชั้นสูง แต่ชนชั้นสูงกลับเป็นผู้ควบคุมสังคมและมีอำนาจทางการเมือง ชนชั้นแรงงานจึงกลายเป็นผู้ถูกกดขี่ทางสังคม
เองเกลส์[2] ได้อธิบายโดยยกตัวอย่างสลัมต่างๆ (slums) ในเมืองใหญ่ของอังกฤษ คือ เมืองแมนเชสเตอร์และกรุงลอนดอน เขากล่าวว่า เมืองแมนเชสเตอร์และกรุงลอนดอนเป็นเมืองใหญ่ที่ต่ำช้า คนในชนบทรอบๆ กรุงลอนดอนราวกับถูกโยนออกไปจากที่ดินของเขา ในปี ค.ศ. 1840 พวกเขาได้รับค่าจ้างแรงงานในภาคอุตสาหกรรมที่ต่ำมาก เมื่อเปรียบเทียบกับความมั่งคั่งของชนชั้นผู้ดีตระกูลสูงและชนชั้นนายทุนที่อาศัยอยู่ในเมืองแมนเชสเตอร์ สิ่งเหล่านี้เป็นเงื่อนไขที่ทำให้เกิดความเกลียดชังของชนชั้นแรงงาน พวกเขามีที่พักอาศัยเป็นเพียงห้องเล็กๆ ในอพาร์ตเมนต์ที่มีเพียง 2-3 แห่ง ห้องพักเล็กๆ คับแคบยิ่งกว่าตู้เสื้อผ้า ราวกับอยู่ในกระท่อมไม้เล็กๆ ที่สร้างด้วยไม้กระดานปูเดินข้ามบ่อโคลน ไม่มีทางเท้าริมถนน ไม่มีน้ำประปา ไม่มีการจัดการขยะ ไม่มีท่อระบายน้ำ ไม่มีน้ำมันเชื้อเพลิงหรือกระแสไฟฟ้าเพื่อให้แสงสว่าง และไม่มีเครื่องทำความร้อน มีเพียงเตาถ่านเล็กๆ ที่ให้ความอบอุ่น ซึ่งหลายครั้งก่อให้เกิดไฟไหม้และทำลายชีวิตผู้คนทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในอาคาร คำอธิบายของเองเกลส์ทำให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจนว่า ฟังก์ชั่นของเมืองไม่เพียงแต่ทำหน้าที่ราวกับเป็นโกดังเก็บแรงงานราคาถูก แต่มันยังมีความแตกต่างกันราวฟ้ากับดินในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ทั้งระบบขนส่งและสาธารณูปโภค แม้แต่การควบคุมรักษาความสงบเรียบร้อย  ทางเท้า สวนส่วนตัว อสังหาริมทรัพย์ และสวนสาธารณะของคนรวย กับความสกปรกของบ้านของคนจน ห้องเช่า สลัม และร้านเหล้าเล็กๆ สำหรับชนชั้นแรงงาน เองเกลส์แสดงให้เห็นถึง เมือง บนเวทีความขัดแย้งของชนชั้นเกี่ยวกับเรื่องเล็กๆ ตามแนวทางการวิเคราะห์แบบมาร์กซ์ กล่าวคือ สภาพแวดล้อมของเมืองเกิดขึ้นบนเวทีความขัดแย้งของชนชั้นเกี่ยวกับเรื่องเล็กๆ ที่เป็นคุณลักษณะเฉพาะของเมือง การปฏิวัติของคนงานที่อยู่อย่างหนาแน่นในเมืองก็เพื่อช่วยให้รอดชีวิต การเขียนถึงเมืองแบบนักหนังสือพิมพ์ของเองเกลส์ได้เปลี่ยนมุมมองเมืองในสหรัฐอเมริกาใหม่ (Turley, Allan 2005: 2-3)
หนังสือ How the Other Half Lives (1890) ของ จาคอบ ริส์ (Jacob Riis) ผู้บุกเบิกการสืบสวนแบบนักหนังสือพิมพ์และวิพากษ์สังคม คำบรรยายพร้อมภาพถ่ายในหนังสือเล่มนี้ เป็นที่มาของการศึกษาวัฒนธรรมเมืองแบบใหม่ ริส์สำรวจเมืองอย่างถี่ถ้วนด้วยวิธีการแบบนักหนังสือพิมพ์โดยเข้าไปในสถานที่ที่มืดที่สุดของเมืองและเป็นสถานที่อยู่อาศัยของชนชั้นที่ต่ำที่สุดของเมือง ริส์ไม่ได้สนับสนุนการปฏิวัติแบบมาร์กซ แต่ใช้การวิเคราะห์ชนชั้นตามแบบมาร์กซ เขากล่าวว่า สภาพความเป็นจริงของเมือง คือ ชนชั้นที่ต่ำที่สุดมีชีวิตอย่างน่าเวทนา ซึ่งมันไม่ใช่เป็นความผิดของพวกเขา ในขณะที่ทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ไม่เคยกล่าวถึงเงื่อนไขทางสังคมที่ไม่เท่าเทียมกันซึ่งทำให้เกิดความแตกต่างของชนชั้นทางสังคมอย่างที่เองเกลส์เสนอเรื่องชนชั้นแรงงานในเมือง (Riis, Jacob 1890)
แม็กซ์ เวเบอร์[3] เป็นอีกคนหนึ่งที่ได้รับอิทธิพลจากงานของเองเกลส์และมาร์กซ แต่ไม่ได้ใช้วิธีการที่รุนแรงแบบมาร์กซิสต์ชาวยุโรป เขาวิเคราะห์เมืองโดยวิธีการเชื่อมโยง เมือง กับลักษณะพิเศษของเมือง 4 ประการ ดังนี้
1.     ความสัมพันธ์ต่างๆ ทางเศรษฐกิจเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในเมือง ลักษณะของชาวเมืองมีพื้นฐานการดำรงชีพด้วยการดำเนินธุรกิจค้าขาย ในขณะที่เขตชนบทการเพาะปลูกพืชพันธุ์ธัญญา หารสามารถค้ำจุนความเป็นอยู่ได้
2.     เมืองต่างๆ เกี่ยวข้องกับสถาบันทางสังคมขนาดใหญ่ที่ส่งผลต่อสภาพแวดล้อมของเมือง สถาบันทางสังคมขนาดใหญ่เหล่านี้ ได้แก่ รัฐบาลและระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เป็นสิ่งที่กำหนดรูปแบบและมีอิทธิพลต่อเมือง
3.     เครือข่ายทางสังคมและกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับเมือง รวมถึงรูปแบบความสัมพันธ์ของชีวิตในเมืองที่แตกต่างกัน สามารถช่วยให้วัฒนธรรมดำเนินต่อไป
4.     เมืองที่มีการปกครองตนเองและมีรายได้ที่เพียงพอเลี้ยงตัวเอง โดยอาศัยกฎหมาย การเมือง และการทหาร ชาวเมืองจะพัฒนาความซื่อสัตย์และความจงรักภักดีต่อเมือง
ปัจจัยสำคัญของเมืองตามรูปแบบการวิเคราะห์ดังกล่าว รวมทั้งแนวคิดวิเคราะห์เรื่องชนชั้นและสถานะของเวเบอร์ ที่เรียกว่า โอกาสของชีวิต (life chances) ซึ่งเกี่ยวพันกับเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และตัวแปรทางการศึกษาเมือง อาจเป็นองค์ประกอบหนึ่งของโอกาสชีวิตของปัจเจกชน แต่เวเบอร์ไม่ได้ให้ความสนใจเป็นอันดับแรก เขามุ่งมั่นที่จะพัฒนาวิธีการศึกษาเมือง (Turley, Allan 2005: 3-4)
จากแนวคิดของเองเกลส์และมาร์กซ ทฤษฎีความขัดแย้งของเมืองได้พัฒนาต่อมาโดย จอห์น โลแกน (John Logan) ฮาร์เวย์ โมโลต์ช (Harvey Molotch) และ มานูเอล คาสเทลส์ (Manuel Castells) ดังนี้
ในปี ค.ศ. 1987 จอห์น โลแกน (John Logan) และฮาร์เวย์ โมโลต์ช (Harvey Molotch)[4] ใช้ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมือง (political economy theory) วิเคราะห์การใช้ที่ดินในเมืองตามทฤษฎีของมาร์กซ โดยนัยยะที่อำนาจทางการเมืองเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจเสมอ โลแกนและโมโลต์ช พบว่า ที่ดินไม่ได้ถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างที่คิด ที่ดินถูกใช้เพื่อผลประโยชน์ของผู้ดีชั้นสูง เพราะในเมืองผู้ดีชั้นสูงที่ร่ำรวยมีอำนาจทางการเมืองมากกว่าพลเมืองกลุ่มอื่นๆ ที่ดินถูกซื้อขายโดยการปั่นราคาจากผู้ทำธุรกิจที่ดินที่ร่ำรวยและเจ้าหน้าที่รัฐผู้มีอำนาจที่หิวกระจาย ซึ่งมันไม่ใช่เหตุผลที่ดีที่สุดในการใช้ที่ดิน แต่เพื่อผลกำไรทางเศรษฐกิจอย่างสมบูรณ์แบบ
โลแกนและโมโลต์ช พบว่า การใช้ที่ดินในเมือง แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
1.     บนพื้นฐานของการแลกเปลี่ยนมูลค่าของที่ดิน
2.     บนพื้นฐานของการใช้มูลค่าของที่ดินในเมือง
มูลค่าการแลกเปลี่ยนเกิดขึ้นเมื่อผู้ดีชั้นสูงทำประโยชน์บนที่ดินในเมือง หรือตกลงใจไม่ใช้ประโยชน์ที่ดินบนพื้นฐานมูลค่าการแลกเปลี่ยนในทางเศรษฐศาสตร์ ยกตัวอย่างเช่น การครอบ ครองที่ดินแปลงหนึ่งในย่านธุรกิจหลักของเมือง (downtown) และปฏิเสธที่จะพัฒนาที่ดินหรือการก่อสร้างอาคารใดๆ บนที่ดินเพื่อช่วยให้ที่ดินในบริเวณรอบๆ มีมูลค่าเพิ่มขึ้น และไม่ขายที่ดินแปลงนั้นเพื่อให้เกิดมูลค่าการแลกเปลี่ยน มูลค่าจากการใช้ที่ดินเพื่อการปลูกสร้างที่อยู่อาศัย โครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค หรือการศึกษา การปั่นราคาที่ดินในเมืองส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมเมือง ไม่เพียงแต่นำไปสู่การขาดแคลนโรงเรียนและการรู้หนังสือ แต่ยังส่งผลต่อการมีโรงพยาบาลไม่เพียงพอและการเจ็บไข้ได้ป่วยของประชากรในเมืองเป็นอย่างมาก ตลอดจนการขาดแคลนที่อยู่อาศัยที่มีราคาเหมาะสมที่ประชากรมีเงินพอที่จะจ่ายได้ ทำให้เกิดสลัมและการแบ่งแยกชนชั้นในวัฒนธรรมเมือง การผลิตวัฒนธรรมเมืองก็เช่นเดียวกับการผลิตประเภทอื่นๆ ที่ต้องอาศัยพื้นที่ (space) เพื่อการผลิต และถ้าไม่มีพื้นที่สำหรับการผลิตวัฒนธรรม อันเนื่องมาจากมูลค่าการแลกเปลี่ยน เมื่อนั้นวัฒนธรรมก็จะถูกจำกัด
การกล่าวถึง เมืองใหญ่ (urban) ตามขนบมาร์กซิสต์แบบดั้งเดิม จะบรรยายเกี่ยวกับเมืองใหญ่ทั้งเมืองโดยเปรียบเทียบกับประเทศอาณานิคม แต่อาณานิคมแบบใหม่การใช้อิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจเพื่อควบคุมและมีอำนาจเหนือรัฐ คือ การตั้งรกรากภายในเมืองโดยชนชั้นกลางและการใช้เมืองเป็นศูนย์กลางธุรกิจของพลเมืองที่มั่งคั่งที่ส่งผลสะท้อนต่อรัฐบาล แต่ขณะ เดียวกันชนชั้นกลางและพลเมืองที่มั่งคั่งก็หนีไปใช้ชีวิตอยู่ชานเมือง โดยนำรายได้และเงินที่จะใช้จ่ายเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยไปสู่ชานเมืองด้วย ซึ่งเป็นผลมาจากข้อจำกัดทางภาษีในเมือง พวกเขาไม่ต้องการจ่ายค่าบริการหรือภาษีในเมืองที่แพง ได้แก่ ค่าจัดหาตำรวจเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ประปา ถนน และอำนาจในเมือง ทั้งยังเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มความต้องการอย่างสูงในการลดหย่อนภาษีสำหรับธุรกิจของพวกเขา และการสร้างทางหลวงสู่ชานเมือง ถ้าเช่นนั้น ใครคือผู้จ่ายภาษีให้เมือง? นั่นก็คือ คนจนที่อยู่ในเมือง นักทฤษฎีกลุ่มนี้ต้องการชี้ให้เห็นว่า ความไม่เท่าเทียมของคนกลุ่มน้อยจำนวนมากเป็นสิ่งที่สืบทอดมาเช่นเดียวกับในอดีตเหมือนชาวอาณานิคม ประชากรในเมืองที่เป็นคนกลุ่มน้อยที่ตั้งรกรากอยู่ในเมือง  เป็นผู้ที่ต้องแบกรับภาระภาษีจากการประกอบอาชีพแทนชนชั้นกลางและพลเมืองที่มั่งคั่งเหล่านั้น (Turley, Allan 2005: 15-16)
วิลเลียม จูเลียส วิลสัน (William Julius Wilson) เป็นอีกคนหนึ่งที่อธิบายถึงคนกลุ่มน้อยที่อยู่ในเมืองแบบมาร์กซิสต์ ในหนังสือ The Declining Significance of Race (1978) วิลสันอธิบายถึงสภาพที่น่าสงสารของชาวแอฟริกันอเมริกันที่อยู่ในเมือง เขาได้สร้างข้อถกเถียงเกี่ยวกับเชื้อชาติที่ยึดถือตามจารีต และการกล่าวหาว่าชาวแอฟริกันอเมริกันเป็นคนไม่ดี วิลสันกล่าวว่า เชื้อชาติไม่ใช่สาระสำคัญในสังคมอีกต่อไป นักเสรีนิยมเรียกร้องให้หันกลับมาตระหนักถึงสิทธิพลเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องชนชั้นมากกว่าเรื่องความเท่าเทียมของสิทธิทางการเมือง
ในสหรัฐอเมริกาการเหยียดผิวสืบเนื่องมาจากระบบทาสในอดีตตั้งแต่สงครามกลางเมืองที่มีผลต่อความรู้สึกของสถาบันทั้งหลายของประเทศ การเหยียดผิวเป็นเรื่องของระบบจ่ายค่าแรงสองเท่า (two-tiered wage system) ที่เกิดจากการพัฒนาอุตสาหกรรมในภาคเหนือของสหรัฐอเมริกาในช่วงทศวรรษ 1900 ทาสในยุคแรกมาจากเมืองทางตอนเหนือถูกส่งไปทำงานเกษตรกรรมทางตอนใต้ในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยคนงานผิวดำถูกกดขี่ค่าแรงที่จ่ายให้น้อยกว่าคนงานผิวขาวในโรงงานอุตสาหกรรมถึง 2 เท่า ทำให้เกิดทัศนะการเหยียดผิว โดยคนงานผิวขาวในภาคเหนือเกลียดชังคนงานผิวดำ ช่วงปลายทศวรรษ 1960 ถึงต้นทศวรรษ 1970 (หลังการผ่านร่างกฎหมายว่าด้วยสิทธิมนุษยชน) วิลสันเห็นว่า ทัศนะดังกล่าวเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ชาวแอฟริกันอเมริกันในสังคมปัจจุบันถูกกดดันให้อยู่ในย่านชุมชนที่มีความตกต่ำทางเศรษฐกิจ ความไม่เป็นธรรมของค่าแรงกดมูลค่าของที่ดินในย่านชุมชนชาวแอฟริกันอเมริกัน ทำให้ขาดแคลนโรงเรียน ซึ่งทำให้ชุมชนชาวแอฟริกันอเมริกันยิ่งเลวร้ายลง คนในชุมชนไร้การศึกษา ขาดอาชีพช่างฝีมือที่จำเป็นสำหรับเศรษฐกิจเมืองในยุคหลังอุตสาหกรรม (postindustrial) วิลสันเห็นว่า เชื้อชาติและชนชั้น เป็นสมมมติฐานเริ่มต้นของการเกิดวัฒนธรรมเมือง จากการเรียกร้องของกลุ่มคนที่ต้องช่วยเหลือตนเองให้รอดพ้นจากความยากจนและการขาดแคนสิ่งที่จำเป็น
มานูเอล คาสเทลส์ (Manuel Castells) ใช้การวิเคราะห์แบบมาร์กซิสต์ ศึกษาอิทธิพลของการจัดการท้องถิ่นตามแนวทางการพัฒนาเมือง ในหนังสือ The City and the Grassroots Movement (1983) คาสเทลส์ศึกษากิจกรรมการเคลื่อนไหวจากการรวมตัวของคนรากหญ้าในท้องถิ่นรอบๆ ชุมชน (ย่านโรงงานที่พวกเขาทำงาน) ในเชิงประวัติศาสตร์ เขาพบว่า การรวมตัวเคลื่อนไหวของคนรากหญ้าในท้องถิ่น (local grassroots movements) ประสบความสำเร็จในการเรียกร้องบริการสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ประปา การศึกษา ที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นการต่อรองกับอำนาจรัฐบาลในการจัดบริการเหล่านี้ให้กับพวกเขา แสดงให้เห็นถึงการเคลื่อนไหวของคนรากหญ้าที่ส่งผลต่อการจัดบริการของเมืองที่พวกเขาคาดหวัง ได้แก่ โรงเรียนสำหรับเด็กๆ น้ำประปา การจัดการสิ่งปฏิกูล ท่อระบายน้ำ การรักษาความสงบเรียบร้อยโดยตำรวจ การป้องกันน้ำท่วม และถนนที่โอ่อ่ากว้างขวาง ตลอดจนการได้รับการปฏิบัติในฐานะพลเมืองของเมือง สิ่งเหล่านี้มีอิทธิพลต่อการจัดการเมืองสมัยใหม่ที่เราไม่สามารถประเมินได้ว่าครั้งหนึ่งเมื่อร้อยกว่าปีก่อนฟังก์ชั่นของเมืองที่เกี่ยว กับบริการเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นสิ่งฟุ่มเฟือย
งานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งของคาสเทลส์เรื่อง The Informational City (1989) อธิบายโดยเน้นถึงยุคหลังอุตสาหกรรมและการปรับเปลี่ยนของเมืองตามกระแสสังคมโลก ทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และองค์ประกอบต่างๆ เขากล่าวถึงการปฏิวัติการผลิตแบบใหม่ เช่นเดียวกับการปฏิวัติเกษตรกรรมหรือการปฏิวัติอุตสาหกรรม สังคมอันประกอบด้วย ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม เมือง และศาสนา ถูกปรับเปลี่ยนโดยการพัฒนาแบบใหม่ตามระบอบเศรษฐกิจทุนนิยมที่เปลี่ยนโครงสร้างแบบก้าวหน้า เมือง ถูกปรับเปลี่ยนตามกระแสสังคมโลกโดยสิ้นเชิง ไม่เพียงแต่ความเป็นไปได้ของประชาชนในเมืองที่ต้องการจะประกอบอาชีพในท้องถิ่น ในอดีต เมือง เป็น สถานที่ (place) ผลิตวัฒนธรรม อัตลักษณ์ทางสังคม เป็นศูนย์กลางการค้าขาย แตกต่างจากปัจจุบันที่เมืองทำหน้าที่เป็น พื้นที่ (space) สำหรับเทคโนโลยีและรถยนต์ ไม่มีพื้นที่สำหรับการเพาะปลูก ยกตัวอย่างเช่น ในทางกายภาพอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ มีโรงงานผลิตตั้งอยู่ในมาเลเซียเพราะมีค่าจ้างแรงงานต่ำ แต่การเก็บรักษาข้อมูลการออกแบบอยู่ในลอสแองเจลิส และงานธุรการของบริษัทอยู่ในเดนเวอร์ ทำให้เกิดธุรกิจยานยนต์ขนาดใหญ่ แต่ไม่มีวัฒนธรรมความภักดีต่อเมืองทั้งในลอสแองเจลิสและเดนเวอร์ พื้นที่อุตสาหกรรมที่หนาแน่นทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเมืองออกไป เมืองของโลกตะวันตกได้เปรียบจากข้อดีของค่าจ้างแรงงานต่ำในโลกตะวันออก และธรรมชาติการเลื่อนไหลของพื้นที่ข้อมูลข่าวสาร
นักวิชาการแนวมาร์กซิสต์ที่สำคัญอีกคนหนึ่ง คือ ปีเตอร์ วาร์ด (Peter Ward) ได้วิเคราะห์เมืองแม็กซิโกซิตี้ในหลายระดับ ในหนังสือ Mexico City (1998) เริ่มจากความเชื่อมโยงระหว่างสภาพแวดล้อมเมืองกับวัฒนธรรม วาร์ด อธิบายถึง การเมือง โครงสร้างของเมือง วิถีชีวิตชุมชน และความพึงพอใจทางเศรษฐกิจของแม็กซิโกซิตี้ ซึ่งวัฒนธรรมของแม็กซิโกซิตี้ปรากฏให้เห็นทางสถาปัตยกรรมในย่านธุรกิจสำคัญของเมืองที่ยังคงรูปแบบอาคารสมัยอาณานิคม ย่านคนจนที่ขาดแคลนบริการสาธารณูปโภคของเมือง น้ำ และสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ ไปจนถึงที่พักอาศัยที่ทันสมัยที่สุด ตลอดจนการโฆษณาว่า แม็กซิโกเป็นประตูสู่อุตสาหกรรมและการลงทุนของประเทศโลกที่หนึ่ง วัฒนธรรมที่เกี่ยวกับการออกแบบก่อสร้างอาคารมีอิทธิพลต่อสังคมผู้ที่อยู่อาศัยในแม็กซิโกซิตี้ อาคารแบบโคโลเนียลให้ความรู้สึกราวกับย้อนยุคไปสู่โลกสมัยอาณานิคม ความนิยมต่อสถาปัตยกรรมรูปแบบโคโลเนียลมีอิทธิพลต่อผลประโยชน์ทางการค้าหรือพื้นที่อุตสาหกรรม ทำให้การออกแบบก่อสร้างอาคารที่พักมีเฉลียงและห้องโถงกลางได้รับการอุดหนุนจากผู้อยู่อาศัย ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในสหรัฐอเมริกาที่ผู้คนอาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์อย่างสันโดษและเป็นส่วนตัว สถาปัตยกรรมของเมืองเปิดประตูสู่เพื่อนบ้าน ขณะเดียวกันก็เป็นเส้นแบ่งชนชั้นในแม็กซิโกซิตี้ การขาดชนชั้นกลางที่เชื่อมโยง ทำให้เห็นความยุ่งเหยิงของคนรวย สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ของผู้มั่งคั่งในแม็กซิโกซิตี้ได้เข้ามาแทนที่อาคารสมัยโคโลเนียล

(โปรดติดตามต่อ ภาค 2)


[1] บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชาบัณฑิตสัมมนา (สห. 845) โครงการปริญญาเอกสหวิทยาการ วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภาคการศึกษาที่ 2/2552
[2] Engels, Friedrich. (1958). The Condition of the Working Class in England. Trans. W.O. Henderson and W.H. Chaloner. New York: MacMillan.
[3] Weber, Max. (1921). The City. New York: Free New York Press (1966).
[4] Logan, John and Harvey, Molotch. (1987). Urban Fortunes: The Political Economy of Place. Berkeley: University of California Press.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น