วันพุธที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2554

โครงสร้างและการตีความ

 
อัญชลิตา สุวรรณะชฎ

“Structure and Hermeneutics”[1] เป็นงานเขียนชิ้นหนึ่งในหนังสือ Conflict of Interpretation (1974) ซึ่ง Kathleen McLaughlin แปลจากต้นฉบับที่ Paul Ricoeur เสนอในการประชุมนักปรัชญานานาชาติ ที่กรุงโรม เมื่อปี ค.ศ. 1963 ในหัวข้อการตีความและประเพณี ริเกอร์ เห็นว่า การตีความมีประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของประเพณีที่ยังดำรงอยู่ เพราะประเพณีที่ตายแล้วย่อมไม่มีการตีความสืบต่อมา มรดกทางวัฒนธรรมที่สืบต่อมาไม่ใช่การส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น แต่เป็นสมบัติที่เราแบ่งปันกันคนละเล็กละน้อยและปฏิบัติให้มากเพื่อเติมเต็มให้สมบูรณ์ ประเพณีมีชีวิตอยู่ได้โดยการตีความให้งดงามและมีราคาอย่างต่อเนื่อง ริเกอร์ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับความเชื่อมโยงของ 2 สภาวะที่พร่ามัวและมีอยู่ชั่วขณะหนึ่ง (temporalities) คือ การตีความอย่างไรที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงานของประเพณี? ทำไมประเพณีมีชีวิตอยู่เพียงช่วงเวลาหนึ่งและนำไปสู่การทำงานของการตีความ? และมองหาสภาวะที่มีอยู่ชั่วคราวอย่างที่ 3 คือ ช่วงเวลาการทำงานของความหมายโดยตัวมันเอง เช่น ความหมายที่ลึกซึ้งที่ถูกจารึกในการเติมเต็มความหมาย ซึ่งควรจะทำโดยการตีความ 2 สภาวะที่มีอยู่ชั่วคราวนี้ ซึ่งช่วงเวลาของความหมายต้องฝ่าฟันกับสภาวะการส่งต่อและการทำใหม่

ริเกอร์มีสมมติฐานว่า การกล่าวถึงเวลากับการประกอบความหมาย ที่เรียกว่า “สัญลักษณ์” (symbol) ประกอบขึ้นจากมุมมองการตีความจากความหมายหนึ่งโดยความหมายของการให้ความหมายหนึ่ง ในเบื้องต้นโดยความหมายตามตัวอักษร เกี่ยวกับวิสัยโลก การให้ความหมายทางกายภาพอ้างอิงย้อนหลังโดยเปรียบเทียบ สิ่งที่เกี่ยวกับจิตใจ เกี่ยวกับการดำรงชีวิตของมนุษย์ ความหมายเกี่ยวกับปรัชญาว่าด้วยความเป็นอยู่ของมนุษย์ ซึ่งไม่มีทางที่จะระบุได้โดยตรง สัญลักษณ์จึงเชื้อเชิญให้เราตีความ ปัญหาในวันนี้ ก็คือ การวิเคราะห์เกี่ยวกับความหมายโดยดึงความหมายออกมาจากสภาวะที่พร่ามัว

การศึกษาการทำงานของสัญลักษณ์ไม่ใช่การทำงานของตำนานหรือนิยายปรัมปรา เพราะมันเป็นเพียงสิ่งที่อยู่รองลงไปภายใต้สัญลักษณ์ ประการแรก คือ ตำนานหรือนิยายปรัมปราเป็นรูปแบบของเรื่องเล่า ประการที่สอง ความสัมพันธ์ของตำนานหรือนิยายปรัมปราและความซับซ้อนของสถาบันทางสังคม มันถูกจัดไว้ในเครือข่ายทางสังคมที่ขึ้นอยู่กับหมุดหมายของสัญลักษณ์ในการละเล่น ตามความคิดของริเกอร์หน้าที่ทางสังคมของตำนานหรือนิยายปรัมปราทำให้ลดทอนการเติมเต็มความหมายของมาตรฐานสัญลักษณ์ ซึ่งกลุ่มที่แตกต่างไปจากจินตนาการที่แต่งขึ้นมาสามารถใช้ได้ในบริบททางสังคมอื่นอีก ประการสุดท้าย การจัดระเบียบความหมายตามตัวอักษรของตำนานหรือนิยายปรัมปรามีนัยยะของการเริ่มต้นของการอธิบายด้วยหลักเหตุผล ซึ่งเป็นข้อจำกัดของการแสดงอำนาจของมาตรฐานสัญลักษณ์

งานชิ้นนี้เริ่มต้นที่นักโครงสร้างนิยม ได้แก่ โคลด เลวี-สโทรส นักมานุษยวิทยาโครงสร้าง ในงานเขียนเรื่อง The Savage Mind เขาศึกษาระบบคิดของคนพื้นเมืองโบราณที่ยังไม่มีภาษา ซึ่งดูเป็นหลักการที่เหลวไหลที่ทำให้ตกหลุมพรางของเรื่องราวที่แท้จริง นักโครงสร้างนิยมต้องปฏิบัติราวกับว่าคำอธิบายหนึ่งมีข้อจำกัดและขยายออกโดยลำดับ การติดตามแนวทางของปัญหาด้วยตัวของมันเอง ซึ่งริเกอร์ขอฉวยโอกาสจังหวะของการขยายออกที่เริ่มจากแกนที่ไม่สามารถจะโต้แย้งได้



1. รูปแบบทางภาษา

เริ่มจากความคิดของ เฟอร์ดินันด์ เดอ โซซูร์ และหนังสือเล่มเล็กๆ ของเขาที่มีชื่อว่า Course in General Linguistics และการแนะแนวทางศึกษาเกี่ยวกับหน่วยพื้นฐานของเสียงของ Trubetskov ประการแรก แยกภาษาพูดออกจากระบบ เนื่องจากภาษานำแสดงตัวเองเช่นเดียวกับระบบสัญญะ (signs) โซซูร์เห็นว่าภาษาที่เกิดขึ้นในเวลาเดียวกันเป็นความสัมพันธ์ระหว่างส่วนประกอบเรื่องราวที่เกิดขึ้นพร้อมกัน ประการสุดท้าย ถึงแม้ว่ามันเข้าใจได้ในระบบ นั่นก็โดยการรับจากกฎเกณฑ์ที่เห็นอยู่เป็นประจำ

ริเกอร์ไม่ได้ต้องการวิพากษ์โครงสร้างนิยม แต่เสนอกฎของภาษาที่แสดงถึงระดับที่ไร้จิตสำนึกชั่วขณะและความรู้สึกที่ไม่กระทบ ไม่เกี่ยวข้องกับความเป็นมาของจิต ไม่ใช่การทำความเข้าใจวงจรการตีความ (hermeneutic circle) ไม่มีค่าทางประวัติศาสตร์ที่แท้จริง ความสัมพันธ์เป็นอัตวิสัยไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้สังเกต นี่คือเหตุผลว่าทำไมมานุษยวิทยาโครงสร้างจึงเป็นศาสตร์ไม่ใช่ปรัชญา


2. การสับเปลี่ยนตำแหน่งหน้าที่กันของรูปแบบภาษาในมานุษยวิทยาเชิงโครงสร้าง

ระบบเครือญาติของ เลวี-สโทรส กับระบบหน่วยพื้นฐานของเสียงสถาปนาขึ้นที่ระดับที่จิตไร้สำนึกชั่วขณะ มันเป็นมากกว่าระบบที่เป็นคู่ตรงข้ามและลำดับชั้นในการให้ความหมายแต่เพียงอย่างเดียว (พ่อ-ลูกชาย, แม่ยายและลูกสะใภ้, สามี-ภรรยา พี่ชาย-น้องสาว) นี่เป็นระบบซึ่งทั้งหมดมาจากมุมมองที่เกี่ยวข้องกับภาษาที่เกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน เป็นระบบประกอบสร้างที่ปราศจากความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ ถึงแม้จะมีมุมมองทางโครงสร้างที่เกี่ยวเนื่องกับการสืบสายเครือญาติ ระบบเครือญาติจึงเป็นภาษาอย่างหนึ่ง แต่ไม่ใช่ภาษาสากล เป็นความคิดเกี่ยวกับรหัสซึ่งต้องมีการทำความเข้าใจระหว่างความรู้สึกที่สื่อสารกันอย่างเป็นทางการระหว่างโครงสร้างเฉพาะและความรู้สึกของโครงสร้างการสืบต่อกัน นี่คือการทำความเข้าใจหน้าที่เชิงสัญลักษณ์ที่ไม่สามารถพูดได้ว่าขึ้นอยู่กับผู้ปฏิบัติตาม

ปัญหาของริเกอร์ก็คือ อะไรที่มาแทนที่ทฤษฎีทั่วไปของความสัมพันธ์ในความหมายของทฤษฎีทั่วไป? ในเรื่องของศิลปและศาสนา อะไรทำให้คนเข้าใจเมื่อคนหนึ่งเข้าใจโครงสร้าง? และการทำความเข้าใจโครงสร้างอย่างไรที่สร้างความเข้าใจการตีความที่นำไปสู่เป้าหมายที่บ่งชี้ไว้? เราควรทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างวิวัฒนาการของภาษาและเหตุการณ์และความเคลื่อนไหวตามลำดับเวลา


3. The Savage Mind[2]

เลวี-สโทรส ศึกษาระบบคิดของคนพื้นเมืองโบราณที่ยังไม่มีภาษา โดยใช้วิธีการหาความรู้แบบโครงสร้างนิยม เพื่อศึกษาระบบคิดของมนุษย์ โดยเสนอข้อถกเถียงว่า สรรพสิ่งต่างๆ ที่ดำรงอยู่ต่างต้องมีโครงสร้างชุดหนึ่งกำกับให้เป็นอย่างที่เป็นอยู่ มิฉะนั้นก็ไม่อาจดำรงอยู่อย่างที่เป็นอยู่ได้ รวมทั้งวิธีคิด “โครงสร้าง” ในความหมายของ เลวี-สโทรส คือ ระบบของความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยง ร้อยรัด หรือตรึงสรรพสิ่งให้อยู่ด้วยกันอย่างที่เป็นอยู่ ความหมายของการกระทำ ของปรากฏการณ์ ของเหตุการณ์ต่างๆ จึงไม่ได้ดำรงอยู่ที่ตัวสิ่งเหล่านี้ แต่อยู่ที่โครงสร้างที่เป็นตัวกำหนดความสัมพันธ์ของสิ่งเหล่านี้กับสิ่งอื่นๆ ภายใต้ระบบเดียวกัน[3] วิธีการหาความรู้แบบโครงสร้างนิยม เป็นการศึกษาเพื่อหาความหมายในระดับลึกของจิตไร้สำนึกที่ซึมลึกอยู่ในระบบคิด ระบบการรับรู้ของเรา ลึกจนถึงขนาดที่ลากองเห็นว่าเป็นระดับที่เราไม่สามารถสื่อสาร พูดคุยกับจิตไร้สำนึกของตัวเราเองได้เลย เพราะจิตไร้สำนึกทำงานแบบเดียวกับระบบของภาษา ซึ่งเราไม่เข้าใจแต่ก็สามารถใช้ภาษาได้ นั่นคือ สิ่งที่ เลวี-สโทรส ศึกษา ได้แก่ วัฒนธรรม พิธีกรรม และระบบคิดของคนพื้นเมืองโบราณในฐานะภาษาแบบหนึ่ง[4]


4. ขีดจำกัดของทฤษฎีโครงสร้าง?
 
ความแตกต่างที่สำคัญประการหนึ่งระหว่างโครงสร้างนิยมกับการตีความ คือ โครงสร้างนิยมไม่เชื่อในเรื่องการตีความ แต่มองว่าความหมายเป็นเรื่องของโครงสร้าง ระเบียบ กฎเกณฑ์ หรือรหัสชุดหนึ่งที่ทำให้เกิดความหมายอย่างที่เป็นอยู่ ริเกอร์ต้องการเปิดเผยให้เห็นว่าเครื่องมือที่จะทำความเข้าใจจิตไร้สำนึก คือ การตีความ ซึ่งการพูดเป็นอัตวิสัยหนึ่งที่สามารถนำไปสู่การทำความเข้าใจอย่างที่เป็นอยู่ สิ่งที่เป็นอยู่ และตัวของเขาเอง


5. การตีความและมานุษยวิทยาเชิงโครงสร้าง


ริเกอร์ ได้สรุปความแตกต่างของโครงสร้างนิยมกับการตีความ ดังนี้

โครงสร้างนิยม
การตีความ
1.  ดำเนินอยู่ด้วยระบบจิตไร้สำนึก ซึ่ง
2.  ทำงานอย่างต่อเนื่องโดยความแตกต่างและการต่อต้าน
3.  อย่างเป็นอิสระของผู้ปฏิบัติ

1.  ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกที่ครอบงำ
2.  เป็นสัญลักษณ์ที่มีอิทธิพลเกินกว่าพื้นฐานของจิตสำนึก โดย
3.  ผู้แปลความ ซึ่งแสดงทัศนคติต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งด้วยตัวของเขาเอง เช่นเดียวกับความหมายของคำและประโยคในทางภาษาศาสตร์ เสมือนหนึ่งเขากำลังเข้าใจดังนั้น เขาจึงเข้าสู่วงจรของการตีความ



เชิงอรรถ

[1] Kathleen McLaughlin. (1974). “Structure and Hermeneutics” Conflict of Interpretation. pp. 27-61.

[2] Claude Levi-Strauss. (1962). The Savage Mind. USA: University of Chicago Press.

[3] ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร. (2545). สัญวิทยา. โครงสร้างนิยม. หลังโครงสร้างนิยม กับการศึกษารัฐศาสตร์. กรุงเทพฯ: วิภาษา. น. 44-45.

[4] ใน “The Savage Mind” Levi-Strauss กล่าวถึง Boas โดยเปรียบเทียบนิยามของคำกริยา “bricoler” ว่า ความหมายของมันในความหมายของคำแบบเก่า คือ คำกริยาที่ถูกนำมาใช้ในการเล่นลูกบอล หมายถึง การกระดอนกลับของลูกเทนนิสเมื่อตีเข้ากำแพง หรือการเล่นบิลเลียดที่ลูกขาวเด้งไปชนขอบโต๊ะแล้วกระดอนมาชนอีกลูกหนึ่ง มันเป็นการโจมตีทางอ้อม ปัจจุบัน “bricoleur” หมายถึง คนที่ทำงานด้วยมือและใช้ในความหมายเปรียบเทียบกับช่างฝีมือ ที่ต้องอุปมาเพราะคำนี้ไม่มีคำแปลในภาษาอังกฤษและใช้ในคำภาษาฝรั่งเศส

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น